Business

พื้นที่อุตสาหกรรมตะวันออกฟื้นรับ ‘อีอีซี’

จำนวนพื้นที่อุตสาหกรรมรายทำเล ครึ่งหลังป

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทคอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้น

ในปี 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) วางเป้าหมายว่าจะสามารถปิดการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่ 3,500 ไร่  มูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17% จากปี 2560

ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 สามารถปิดการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว 800 ไร่ มูลค่าการซื้อขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และคาดการณ์ว่าในปี 2561 จะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเปิดใหม่อีกว่า 4,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี

ตลาดนิคมฯเริ่มฟื้นครึ่งหลังปี‘60

จำนวนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ณ ครึ่งหลังปี  2560 อยู่ที่ 1.64 แสนไร่ หลังจากผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลายราย ชะลอการเปิดขายเฟสใหม่ในช่วงปี 2558–2559 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการลดลงของนักลงทุนต่างชาติ

แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมาตลาดเริ่มฟื้นตัว สามารถขายได้ 3,300 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 8.3 หมื่นล้านบาท โดยที่ดินส่วนใหญ่ที่ขายได้อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา  เนื่องจากนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

โครงการอีอีซีของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับฐานการผลิตของประเทศ ภายใต้นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้นักลงทุนมีความสนใจในเรื่องของข้อมูลสิทธิประโยชน์ และกฎหมาย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุน

ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าว ยังมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งด้านวัตถุดิบ แรงงานฝีมือ รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก ถนน ระบบรถไฟ

เมกะโปรเจคดึงดูดการลงทุนเพิ่ม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดงบประมาณเพื่อการพัฒนา 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ภายใน 5 ปี

พื้นที่อีอีซี เป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้เกิดความต้องการในภาคอุตสาหกรรม พื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ต้องใช้เวลาอีก 1–3 ปีขึ้นไปจึงจะเห็นผลชัดเจน

การครอบครองพื้นที่อุตสาหกรรมเฉลี่ยรายทำ

ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกว่า 56% ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่นี้ และอีก 39% อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง

พื้นที่ภาคตะวันออก จะยังได้รับความนิยมต่อไปในอนาคต เนื่องจากโครงการอีอีซีจะช่วยผลักดันให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกขยายตัวมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลโดยกนอ.จะพยายามโปรโมทเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนทั้ง 10 แห่งด้วยก็ตาม

อัตราการครอบครองพื้นที่เฉลี่ยในนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกอยู่ที่ 90% ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ต่ำกว่าทั้ง 2 พื้นที่นี้แบบชัดเจน

ญี่ปุ่นตลาดหลักลงทุนอุตสาหกรรม

จากสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจในการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2560 อยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท และกว่า 90% อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก

ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 87.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ 85.9  และในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่า ความต้องการพื้นทีอุตสาหกรรมในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศ

บริษัทขนส่งสินค้าหลายแห่ง มองหาโอกาสขยายตัวในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 เพราะประเทศไทย ตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ดีของอาเซียน มีผลดีต่อธุรกิจการขนส่งสินค้า และไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อทดแทนอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานคน เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ราคาที่ดิน

ราคาที่ดินขยับตามพื้นที่อีอีซี

ส่วนราคาที่ดิน พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ มีราคาสูงที่สุด เพราะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้า ซึ่งมีทั้งท่าเรือและสนามบินนานาชาติ รองลงมา คือ สมุทรปราการ และปทุมธานี

สำหรับในปี 2561 ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายราย ต่างพากันซื้อที่ดินเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี เพื่อเตรียมนำมาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ ดึงดูดนักลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ รวมถึง อุตสาหกรรมประกอบจักรกล อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

ตัวอย่างความร่วมมือเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เช่น บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเม้นท์ ได้ร่วมทุนกับไออาร์พีซี ซื้อที่ดินประมาณ 2,152 ไร่ในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ห่างจากตัวเมืองระยอง 20 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 36 กิโลเมตร และสนามบินอู่ตะเภา 50 กิโลเมตร โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้จะมีชื่อว่า “นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง”

 

Avatar photo