Business

‘เอ็นไอเอ’ชี้ 3 ย่านนวัตกรรมกรุงเทพฯพัฒนาธุรกิจ 2 แสนล้าน

เอ็นไอเอ ย่านนวัตกรรม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากการดำเนินยุทธศาสตร์การยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ (AREA-BASED INNOVATION) ทั่วประเทศ ปัจจุบันพบว่า  ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี  ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ และย่านนวัตกรรมปทุมวัน (ราชประสงค์) เป็น 3 ใน 8 ย่านของกรุงเทพฯ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสามารถพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นอย่างดี

จากข้อมูลพบว่าธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของกรุงเทพฯ มีมูลค่าเฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนล้านบาท (ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)

เอ็นไอเอ ย่านนวัตกรรม

“รัตนโกสินทร์”ย่านธุรกิจสร้างสรรค์

ดร.สญชัย ลบแย้ม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ มีโอกาสที่จะเกิดธุรกิจนวัตกรรมประเภทธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ อาทิ การดีไซน์ การออกแบบ สื่อมัลติมีเดีย แฟชั่น เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทักษะด้านศิลปะ รวมถึงธุรกิจนวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัย การบริการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ และการพัฒนา Co – Working Space เพื่อเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรม และการรวมตัวทางธุรกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ เช่น ปากคลองตลาด สำเพ็ง พาหุรัด  ถนนราชดำเนิน ท่าช้าง ท่ามหาราช บางลำพู

ย่านนวัตกรรม เอ็นไอเอ
ดร.สญชัย ลบแย้ม

ย่านนวัตกรรมสุขภาพ-บริการทางการแพทย์ “โยธี”

นายอุกฤช กิจศิริเจริญชัย ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมโยธี เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของธุรกิจนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร  สตาร์ทอัพ ที่จะรองรับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์จากหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ ธุรกิจนวัตกรรมด้านสุขภาพ โดยพื้นที่หลักที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจที่พร้อมจะรองรับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมดังกล่าว คือ กลุ่มพื้นที่รวมหน่วยงานบริการด้านการแพทย์ สุขภาพ สาธารณสุข สถานที่ราชการในกำกับของรัฐ รัฐวิสาหกิจในเขตราชเทวี และพญาไท

ย่านนวัตกรรม เอ็นไอเอ
อุกฤช กิจศิริเจริญชัย

สมาร์ทคอมมูนิตี้ “ราชประสงค์”

นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (RSTA) กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมปทุมวัน (ราชประสงค์) เป็นย่านที่มีความพร้อมและเป็นศูนย์รวมด้านธุรกิจที่หลากหลาย จึงเหมาะและเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาสตาร์ทอัพหรือธุรกิจนวัตกรรมด้านการเงิน บริการด้านการเดินทางและการขนส่งที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมทางการค้า ด้านที่พักอาศัยเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์ บริการเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนเมืองครบวงจร  โดยมีปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนทั้งสถาบันการศึกษา องค์กรธุรกิจชั้นนำ นักท่องเที่ยว นักลงทุน

ผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ 18 อาคาร ได้เชื่อมโยงการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น การสร้าง “สกายวอล์ก” มูลค่า 1,000 ล้านบาท บริการไวไฟ เพื่อสร้างบรรยากาศพื้นที่การทำงาน  ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ที่จะเป็นต้นกำเนิด เพื่อดึงสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ

ปัจจุบันราชประสงค์ เป็นย่านที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์  เจดีดอทคอม มาใช้พื้นที่เปิดสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่างๆ จะทำให้ย่านนี้ เป็นแหล่งงาน และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่ก้าวสู่การเป็น “สมาร์ท คอมมูนิตี้”  เป็นแหล่งสร้างสรรค์ไอเดียและนวัตกรรมใหม่ และเป็นแพลตฟอร์มที่ สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ใช้ต่อยอดการพัฒนาธุรกิจ

ย่านนวัตกรรม
ชาย ศรีวิกรม์

ประกวดภาพถ่ายย่านนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้แนวคิดย่านนวัตกรรมเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น NIA ได้จัดนิทรรศการ 15 ย่านนวัตกรรมทั่วประเทศ พร้อมร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (RPST) จัดการประกวดถ่ายภาพนวัตกรรมInnovation Thailand Photo Contest” ซึ่งเป็นแนวการถ่ายภาพเชิงพื้นที่เฉพาะ (Area-based Focus) ของพื้นที่ย่านนวัตกรรม 7 แห่งได้แก่ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ย่านนวัตกรรมปทุมวัน ย่านนวัตกรรมพัทยา  ย่านนวัตกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ย่านนวัตกรรมในจังหวัดภูเก็ต  และย่านนวัตกรรมในจังหวัดขอนแก่น

ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนรู้ถึงประโยชน์จากการยกระดับแต่ละพื้นที่ให้เป็นย่านนวัตกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการนำปัญหาหรือสิ่งรอบตัวมาพัฒนารูปแบบธุรกิจและโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม นอกจากนี้ยัง ยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บรรยากาศด้านนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะต่อเนื่องถึงการช่วยให้ แต่ละพื้นที่มีความน่าอยู่อาศัยมากขึ้น

ด้าน นายณภัชป์ รัตนศักดิ์ กรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กิจกรรมสนับสนุนดังกล่าวเป็นแนวทางการพัฒนาวงการถ่ายภาพของประเทศไทยให้ก้าวหน้าในอีกระดับรูปแบบหนึ่ง โดยกลุ่มเป้าหมายในความร่วมมือครั้งนี้ครอบคลุมตั้งแต่นักถ่ายภาพมืออาชีพและสมัครเล่น นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป   โดยสามารถส่งได้ทั้งภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิทัลโดยตรง หรือกล้องบรรจุฟิล์ม หรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือหรือวิธีการอื่น

การร่วมประกวดจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน – 1 กันยายน 2561 โดยกิจกรรมจะเริ่มที่ ย่านนวัตกรรมในจังหวัดภูเก็ต ย่านนวัตกรรมโยธี ย่านนวัตกรรมในจังหวัดขอนแก่น ย่านนวัตกรรมในเมืองพัทยา ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ย่านนวัตกรรมปทุมวัน และย่านนวัตกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ รวมเงินรางวัลทั้ง 7 ย่านนวัตกรรม ทั้งสิ้น 2.8 แสนบาท สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมฯ www.rpst.or.th

Avatar photo