COLUMNISTS

ลดขยะพลาสติกวาระโลก

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
806

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 พฤษภาคมปีนี้ สหประชาชาติชูประเด็น “รักษ์โลกเลิกพลาสติก” เป็นแกนขับเคลื่อน

ในส่วนของประเทศไทย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดงานวันสิ่งแวดล้อมโลกอย่างเจาะจงไว้ตอนหนึ่งว่า ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญของสิ่งแวดล้อม

ปีนี้ปัญหาขยะพลาสติกในบ้านเราได้รับความสนใจจากสังคมมากเป็นพิเศษ เพราะก่อนวันสิ่งแวดล้อมมาถึง เกิดเหตุสะเทือนใจที่เร้าอารมณ์ผู้คนให้เหลียวมาดูปัญหาขยะพลาสติก

000 15K01O

กรณีวาฬครีบสั้นป่วยตายเกยตื้นที่สงขลา และทีมสัตว์แพทย์ที่ผ่าซากพิสูจน์ พบว่ามีขยะพลาสติกถึง 80 ชิ้น น้ำหนัก 8 กิโลกรัมอยู่ ในท้องวาฬโชคร้ายเหยื่อของมลภาวะในท้องทะเลอีกตัวหนึ่ง คาบเกี่ยวด้วยข่าว บริษัทจีนลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศ ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นขบวนการขนขยะอิเล็กทรอนิกส์ และ พลาสติก มาทิ้งมากกว่ารีไซเคิล ตามที่กล่าวอ้างกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ปัญหาขยะพลาสติกมาจากปริมาณสะสมในธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคุณสมบัติสุดโดดเด่นของวัสดุประเภทนี้คือ ย่อยสลายยาก และพฤติกรรมทิ้งไม่รับผิดชอบของมนุษย์ ทำให้ขยะพลาสติกไปอยู่ผิดที่ผิดทางจนก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อมในที่สุด

เมื่อเร็วๆนี้ สหประชาชาติ ออกมาระบุว่าสถานการณ์ขยะพลาสติกน่าเป็นห่วง ทั่วโลกใช้ถุงพลาสติก 5 แสนล้านใบ ครึ่งหนึ่งใช้ครั้งเดียวทิ้ง และอีก 13 ล้านใบไหลลงทะเล มีการจัดอันดับ(การปล่อยถุงพลาสติกลงทะเล) 192 ประเทศทั่วโลกด้วยว่าประเทศไหนทิ้ง(ขยะพลาสติก) มากน้อยเพียงใด ซึ่งไทย ติดอับดับ 6 ของโลก

อันดับที่ได้มา บ่งบอกว่าปัญหาขยะพลาสติกในบ้านเรารุนแรงกว่าที่คนสวนใหญ่เข้าใจ

แล้วเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หากดู ข้อมูลที่หน่วยงานต่างๆแจกแจงในวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา คำถามนี้มีคำตอบ

รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ บอกปีที่แล้วขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 12 % ส่วนใหญ่เป็นถุงร้อน เย็น บรรจุอาหาร และถุงพลาสติกหูหิ้ว เฉพาะถุงหูหิ้วมากถึง 4.5 หมื่นล้านชิ้น

กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเล ให้ข้อมูลว่า ปี 2560 ที่ผ่านมา คนไทยผลิตขยะ มากถึง 27.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.26 % หรือราว 120,000 ตัน ในจำนวนนี้ 2 % หรือ 2 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก (ส่วนมากเป็นถุง) รีไซเคิลได้เพียง 5 แสนตัน ที่เหลือฝังกลบ

กรุงเทพมหานครบอกว่า วันหนึ่งๆเก็บขยะพลาสติกได้ถึง 80 ล้านชิ้น ค่าฝังกลบ 700 บาทต่อตัน และกำลังมีปัญหาเรื่องพื้นที่ฝังกลบ

เฉลี่ยคนไทยใช้ถุงกันวันละ 8 ใบ ฯลฯ

ไปค้นดูข้อมูลภาคการผลิตเพื่อหาความเชื่อมโยงกับข้อมูลข้างต้น พบว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้ 30 % เศษๆ  มาจากการผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือมากเป็นอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรม ตัวเลขดังกล่าวยืนยัน ความมหึมาของตลาดถุงพลาสติกได้ดี

หลายปีที่ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนมีการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกหันมาใช้ถุงผ้าแทน ทิ้งขยะต้องแยก เพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตซ้ำนำ กลับมาใช้ใหม่ ฯลฯ

ธุรกิจค้าปลีกทุกประเภททุกรายพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงของลูกค้าด้วยกลยุทธ์ต่างๆ มหาวิทยาลัยหลายแห่งประสบความสำเร็จในการเชิญชวนนักศึกษาลดการใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ

ลดขยะพลาสติกวาระโลก

ผู้ผลิตพลาสติกหลายรายเริ่มลดการผลิตพลาสติกใช้แล้วทิ้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ยังไม่มีพลังมากพอรับมือกับปัญหาขยะพลาสติกที่กำลังโน้มใกล้วิกฤติเข้าไปทุกที

ทรัพยากรในอ่าวไทย เริ่มถูกแทนที่ด้วยขยะพลาสติกที่ลอยวนข้ามมหาสมุทร จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

ปีนี้ ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ขึงขังมาก กระทรวง มูลนิธิ บริษัท สภาอุตสาหกรรมฯ รวม 23 หน่วยงาย จับมือร่วมโครงการจัดการขยะและพลาสติก โดยประกาศแผนปฏิบัติการจัดการขยะระยะ 10 ปี (2561-2570) ตั้งเป้าลดขยะพลาสติกลงครึ่งหนึ่งภาย ในปี 2570 โดยชูแนวคิดเศรษฐศาสตร์หมุนเวียน ลดใช้ ใช้ซ้ำ ผลิตซ้ำ เป็นกลไกขับเคลื่อน

ขณะที่หน่วยงานรัฐบางแห่ง เริ่มโครงการลดขยะพลาสติกเช่น กรมการแพทย์ฯที่ ประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกตั้งเดือนตุลาคมปีนี้เป็นต้นไป

ถ้าจะให้ดี รัฐบาลควรพิจารณานำมา มาตรการเชิงบังคับมาใช้ ควบคู่กับแผนการกระตุ้นจิตสำนึก ซึ่งเหมือนเรียกร้องความเห็นใจ เช่นที่หลายประเทศใช้กันอยู่เวลานี้

อียู กับ จีน ให้ร้านสะดวกซื้อ เก็บค่าถุงจากลูกค้า หรือ ไอร์แลนด์ ที่ใช้มาตรการทางภาษี และ อังกฤษ กับ ไต้หวัน ฯลฯ กำหนดเป้าหมายเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไว้อย่างชัดเจน

อีกเรื่องที่สมควรทบทวน เช่นกัน คือ มาตรการทิ้งขยะไม่ฟรี

ทุกวันนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ใช้งบจัดการขยะราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เรียกเก็บจากชาวบ้านได้ราว 4-5 พันล้านบาทต่อปีเท่านั้น แสดงว่าเวลานี้คนไทย 3 ใน 4 ทิ้ง ขยะไม่อั้นโดยไม่มีต้นทุน

การใช้มาตรการเชิงบังคับร่วมกับการกระตุ้นจิตสำนึก จะทำให้เป้าหมายลดการใช้ ขยะพลาสติกลงครึ่งหนึ่งใน 10 ปี มีโอกาสเป็นไปได้ มากขึ้น.