COLUMNISTS

ธุรกิจอยู่ได้ด้วยคำถามและความคิดสร้างสรรค์

Avatar photo
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
50

จริงหรือไม่ที่ระบบการศึกษาไทยและวัฒนธรรมทำให้เราอยู่ใน Comfort Zone ไม่กล้าถามและไม่อนุญาตให้ถาม

เคยไหมเวลาที่ลูกถามคุณครูมากๆ คุณครูก็จะเรียกพ่อแม่ไปพบว่าลูกมีปัญหา ไม่เคารพครูบ้าง ท้าทายครูบ้าง สิ่งเหล่านี้ไม่ดีต่อการบริหารธุรกิจ เพราะธุรกิจอยู่ได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์และแตกต่าง

องค์กรส่วนใหญ่เมื่อเติบโตขึ้น มีระบบขั้นตอนมากขึ้น เรามักสูญเสีย “ความคิดสร้างสรรค์” และความแตกต่างไป เช่นเดียวกับการที่โตเป็นผู้ใหญ่

จงถามตัวเองว่า ธุรกิจเราอยู่ไปเพื่ออะไร

Mission (พันธกิจ) เป็นสิ่งที่เราต้องยึดมั่นไม่เปลี่ยนแปลง เป็นแก่นของธุรกิจ ซึ่งต้องหาให้เจอ ต้องทำให้ชัด ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า เราเกิดมาเพื่ออะไร อยู่ไปเพื่ออะไร และเพื่อใคร ทำไมเขาถึงต้องการธุรกิจเรา และมันสร้างมูลค่าเพิ่มให้เขาอย่างไร เป็นงานหลักที่ไม่มีวันจบสิ้น

แต่ Vision (วิสัยทัศน์) ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Strategy (กลยุทธ์) คือ ทำอย่างไรเราจึงจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ต้องทบทวนบ่อย ๆ

mujer de negocios mirando a traves de un catalejo 1133 140

แล้วอะไรจะทำให้คนเลิกใช้สินค้าและบริการของเรา

ในอดีต บริษัทมักหมกมุ่นอยู่กับการหาว่า ทำอย่างไรจะให้คนใช้สินค้าหรือบริการเรามากขึ้น แต่ปัจจุบัน บริษัทที่จะอยู่รอดต้องหาให้เจอว่า อะไรที่จะทำให้คนเลิกใช้สินค้าหรือบริการของเรา

หากเราขายแว่นตา อะไรที่จะทำให้คนเลิกใช้แว่นตา อาจเป็น Virtual Reality หรือ Augmented Reality (VR / AR) หรืออาจจะยังใช้อยู่ แต่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ ที่เรารู้จักอีกต่อไปแล้ว ซึ่งผู้ผลิตต่างฝ่ายต่างก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับอีกฝ่าย ดังนั้นหากเรานั่งคุยกัน เราจะพบประตูบานใหม่ของธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน

ถ้าลูกค้าปัจจุบันเลิกใช้บริการเรา จะทำอย่างไร

การผูกขาดกับลูกค้ารายใหญ่ หรือการมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และกลายเป็นบริษัทมหาชน เป็นหนึ่งกลยุทธ์หลักของหลายๆ บริษัทที่ทำให้เติบโตได้มากกว่า 50% ด้วยซ้ำ

แต่ในความเติบโตก็มีความเสี่ยง เพราะหากวันใดตกลงกันไม่ได้ ธุรกิจเราก็จะกลายเป็นส่วนเกินทันที หากธุรกิจของลูกค้ารายใหญ่ของเราอาการโคม่า เราอาจไม่รอด หรืออาจตายทันทีตั้งแต่เขาเริ่มป่วยแล้วก็ได้

กว่าจะมาเป็นทุกวันนี้ เราสูญเสียอะไรไปบ้าง

ในยุคหนึ่งที่ระบบ ISO หรือเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ กำลังได้รับความสนใจ ทำให้หลายบริษัทต้องเข้าสู่กรอบที่กำหนดว่า หากเราไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ได้มาตรฐานตามกรอบ ไม่ได้มีขั้นตอนตามเขา เราอาจเสียโอกาสทางธุรกิจบางอย่าง หรือในบางประเทศได้ บริษัททั้งหลายจึงปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคที่มีระบบ มีขั้นตอน แต่ในความเป็นขั้นเป็นตอนนั้น ทำให้เราเริ่มศูนย์เสียความคิดสร้างสรรค์ไป ทำอย่างไรเราจะมีนโยบาย มีขั้นตอนที่เป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดใหม่ๆในยุคที่ไอเดียมีค่ามากกว่าเทคโนโลยีราคาพันล้าน

ถ้าเราไม่ซื้อเทคโนโลยีนี้ ใครจะซื้อไป

หลายบริษัทสร้าง Sense of Urgency ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการถามคำถามตัวเองและองค์กรอยู่เสมอว่า ธุรกิจเราจะต้องเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ถ้าเราไม่ซื้อเทคโนโลยีนี้ ใครจะซื้อไปแทน เพราะฉะนั้นเราควรจะทำอย่างไรกับตัวเองในวันนี้

ทำธุรกิจนี้มาสิบกว่าปี แต่หลังๆ ขายไม่ได้เลย มีอะไรเปลี่ยนไป

คำถามยอดฮิต พนักงานขายเครื่องจักรมาหลายสิบปี แต่หลังๆ ขายไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่บริษัทก็ให้เครื่องมือไปใช้แทบทุกอย่าง เกิดอะไรขึ้น

ปัจจุบันการบริหารธุรกิจไม่ใช่ศาสตร์และศิลป์ (Art & Science) เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่คือการปฏิบัติ (Practice) หรือลองผิดลองถูก ทดลองจนเห็นการเปลี่ยนแปลง ให้ลองทำแล้วกลับมาเล่าประสบการณ์ และเรียนรู้ผ่านเครือข่าย (Network) กับทั้งภายในและภายนอกองค์กร แล้วคำตอบจะปรากฏเอง

คำว่า disruptive มีอยู่ตลอดเวลาในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน แบบที่ทำให้มีข้อจำกัดในการทำงาน หรือทำให้ Core Competency ขององค์กรสูญเสียไป หรือธุรกิจไม่เป็นที่ต้องการในอนาคต

ปรัชญาของดาร์วินเป็นจริงเสมอ ใครปรับตัวเป็น ปรับตัวเก่ง และยอมรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ ก็จะมีช่องทางที่จะเติบโตในอนาคตเสมอ

อย่าลืมว่า หากเรายึดติดกับการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็เท่ากับหยุดอยู่กับที่ ซึ่งก็คือการวิ่งถอยหลังในโลกดิจิทัล