Economics

เปิดแผนไฮสปีด ‘ภาคใต้’ วาดฝันจะวางราง 1,000 กม. จรดชายแดนมาเลเซีย

ขณะที่รถไฟความเร็วสูงสายอีสาน (รถไฟไทย-จีน) และสายตะวันออก (รถไฟเชื่อมสามสนามบิน) เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ “รถไฟความเร็วสูงสายใต้” ซึ่งเคยได้ยินชื่อตีคู่กันมา กลับถูกพูดถึงน้อยลง และยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน

ล่าสุดข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยถึงแผนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงว่ามีทั้งหมด 4 เส้นทาง ได้แก่ เหนือ, อีสาน, ตะวันออก และใต้ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะทางรวม 1,208 กิโลเมตร, ระยะกลาง 499 กิโลเมตร และระยะยาว 759 กิโลเมตร

สำหรับรถไฟความเร็วสูงสายใต้มีระยะทางทั้งหมด 970 กิโลเมตร และถูกจัดอยู่ในแผนลงทุนระยะปานกลางถึงระยะยาว

fig 16 04 2019 12 24 22

เปิดถึงมาเลเซียปี 2580

ในระยะกลาง จะมีการลงทุนรถไฟความเร็วสูงจากสถานีกลางบางซื่อในกรุงเทพฯ ไปถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย 4 สถานี ได้แก่ สถานีนครปฐม, สถานีราชบุรี, สถานีเพชรบุรี และสถานีหัวหิน ระยะทางรวม 211 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 100,125 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 9.76%

โครงสร้างจะมีทั้งทางระดับพื้นดินและทางยกระดับ ขบวนรถมีความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยขบวนรถจะออกทุกๆ 90 นาทีและใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 17 นาที เบื้องต้นคาดว่า จะเปิดให้บริการในปี 2570 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า มีปริมาณผู้โดยสารอยู่ 10,094 คนต่อวัน และอัตราค่าโดยสารระหว่าง 385-1,044 บาทต่อเที่ยว

61730712 2726970723984448 83892402191859712 o

 

แผนระยะยาว การรถไฟฯ จะขยายเส้นทางไปอีก 759 กิโลเมตร จนถึงปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตลอดเส้นทางมีทั้งโครงสร้างทางวิ่งระดับพื้นดินและทางยกระดับ ประกอบด้วย 7 สถานี ได้แก่ สถานีประจวบคีรีขันธ์, สถานีชุมพร, สถานีสุราษฎร์ธานี, สถานีนครศรีธรรมราช, สถานีพัทลุง, สถานีหาดใหญ่ และสถานีปาบังเบซาร์

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงและใช้วงเงินลงทุนราว 432,329 ล้านบาท โดยล่าสุดการรถไฟฯ อยู่ระหว่างเตรียมศึกษาความเหมาะสมทั้งด้านเทคนิค อัตราค่าโดยสาร ปริมาณผู้โดยสาร และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2580 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า

61697580 2726973633984157 7549138289601544192 o

ของบพันล้านบาทศึกษาเพิ่ม

“วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสม โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างของบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางต่อจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี และต้องปรับผลการศึกษาให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ด้วย การศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน หรือแล้วเสร็จราวปลายปี 2563

จากนั้นการรถไฟฯ และรัฐบาลจะต้องนำผลการศึกษามาพิจารณาอีกครั้งว่า ควรลงทุนถึงจังหวัดชุมพรหรือจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงสายใต้เป็นเส้นทางที่ยาวมาก ยาวที่สุดในประเทศไทย จึงต้องพิจารณาความสามารถในการแข่งขันด้วย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสายการบินราคาประหยัด

วรวุฒิ มาลา
วรวุฒิ มาลา

ถ้าหากลงทุนจึงจังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร ก็มีความเป็นไปได้ในการแข่งขัน เพราะคู่แข่งน้อยรายและมีสายการบินไม่มากนัก แต่หากลงทุนยาวถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3 ชั่วโมง ใกล้เคียงกับการเดินทางทางอากาศ ซึ่งผู้โดยสารต้องใช้เวลาเดินทางเข้าออกสนามบินและเช็คอินประมาณ 2 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทางจริงอีก 1 ชั่วโมง เป็นทั้งหมด 3 ชั่วโมง ถ้าหากค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงเท่ากันหรือแพงกว่าก็อาจจะไปไม่ไหว

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในแผน การรถไฟฯ ยังวาดภาพการลงทุนถึงปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ติดพรมแดนมาเลเซีย แต่ทั้งหมดก็ต้องดูเรื่องการแข่งขันด้วย เพราะรถไฟความเร็วสูงต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมงและค่าโดยสารก็สูงขึ้นตามลำดับ ส่วนเครื่องบินใช้เวลาเดินทางจริง ไม่รวมการเข้า-ออกสนามบินอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ตามหลักการแล้วการลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่มีระยะยาวกว่า 600 กิโลเมตร จึงอาจจะสู้ระบบขนส่งอื่นได้ลำบาก

ผู้ว่าฯ จึงกล่าวถึงทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องใจเย็นๆ รอผลการศึกษาที่กำลังจะออกมา …

Avatar photo