Politics

ส่องประวัติรัฐมนตรี ‘ครม.ประยุทธ์ 2’

ครม.ประยุทธ์ 2 ปก 2

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2497 จบการศึกษาจากนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 23 โดยเริ่มต้นรับราชการที่หน่วย “ทหารเสือราชินี” ( กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ.) และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อบริหารประเทศ จากนั้นได้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศ จนในที่สุดสนช.ได้มีมติเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล และให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาขานชื่อลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ และเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2488 พล.อ.ประวิตร ได้เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนก้าวเข้าสู่รั้วเตรียมทหาร (ตท.6) และเข้าสู่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 17 (จปร.17) โดยพล.อ.ประวิตร ถือเป็นนายทหารดาวรุ่งของกองทัพบกในยุคนั้น

พล.อ.ประวิตร เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเป็นทางการในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2551 ถึง 9 สิงหาคม 2554 และเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ “พล.อ.ประวิตร” จึงมีชื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้ง โดยเป็นทั้งรองหัวหน้า คสช. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2496 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา นายสมคิดถือเป็นขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ภายหลังรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ได้แต่งตั้งให้ นายสมคิด เข้ารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในเดือนสิงหาคม 2558 ได้แต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2494 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก สาขากฎหมาย แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยนายวิษณุเริ่มทำงานการเมืองตั้งแต่ปี 2534 และเมื่อปี 2535 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร และได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดยตำแหน่งล่าสุดคือ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เกิดวันที่ 15 มีนาคม 2499 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

นายจุรินทร์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 8 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส.ส.11 สมัย เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในสมัยรัฐบาลชวน 1 และดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลชวน 2 และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

“อนุทิน” หรือ “เสี่ยหนู” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นบุตรของ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” โดย “ชวรัตน์” ผู้เป็นพ่อเคยดำรงตำแหน่งอดีตหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

สำหรับ “อนุทิน” ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ STEC และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ต่อมาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จากนั้น “อนุทิน” ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยและได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคนับตั้งแต่ปี 2555

ครมประยุทธ์22

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

เกิดวันที่  25 มกราคม 2500 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลประยุทธ์ 1 เคยดำรงตำแหน่งราชองครักษ์เวร รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557 ปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม อดีตหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำปลัดกระทรวงกลาโหมและอดีตประธานตรวจสอบคดีทุจริต อุทยานราชภักดิ์ อดีต กรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2492 จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 21 และยังได้ศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรทางด้านการทหารและได้จบปริญญาตรีทางด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจบปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 26

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นหนึ่งในทหารผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยปี 2549 ซึ่งขณะนั้น พล.อ.อนุพงษ์ อยู่ในยศ พลโท (พล.ท.) และเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 โดยพล.อ.อนุพงษ์ได้รับเลือกให้เป็น ผู้บัญชาการทหารบก (คนที่ 36) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2557 พล.อ.อนุพงษ์ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เกิดวันที่ 22 กรกฎาคม 2501 สำเร็จการศึกษาสูงสุด ระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต (มหาวิทยาลัยรามคำแหง)

เส้นทางการเมือง เป็นสมาชิกสภาจังหวัด 2 สมัย ในปี 2528 และ 2533 รวมทั้งเคยเป็นประธานสภาจังหวัดสงขลา, เป็น ส.ส. สงขลา 5 สมัย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ/สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยนาย บัญญัติ บรรทัดฐาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเงา

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เกิดวันที่ 20 เมษายน 2501 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ “ทรงศักดิ์” เป็นสมาชิกลุ่มเพื่อนเนวิน ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต่อมาในปี 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน

ครมประยุทธ์23

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2503 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก สาขาบริหารการเงิน School of Management , University of Massachusetts-Amherst สหรัฐอเมริกา นายอุตตม เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 เพื่อให้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกระทรวงที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

ภายหลังจากการยื่นลาออก ได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 กันยายน 2559 และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนลาออกมาเป็น หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (2545) และระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2547)

นายสันติ เริ่มทำงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี พ.ศ. 2537 และเป็นกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ จากนั้นได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งและเป็น ส.ส.จังหวัดเพชรบูรณ์ 2 สมัย คือ ในปี พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2539 จากนั้นจึงได้ย้ายเข้ามาร่วมกิจกรรมกับพรรคไทยรักไทย และในปี พ.ศ. 2550 ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และล่าสุดนายสันติได้ย้ายมาสังกัด พรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับสมาชิกกลุ่มสามมิตรกว่า 60 คน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เกิดวันที่ 29 พฤษภาคม 2509 ที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมรสกับ นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์ นักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

นายณัฎฐพล ผันตัวเองเข้าสู่วงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ในปี 2556 – 2557 นายณัฏฐพลได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรค เพื่อเข้าร่วมเป็นแกนนำในการชุมนุมของกปปส. ปัจจุบันนายณัฏฐพล เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เกิดวันที่ 21 กันยายน 2484 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2504 และได้ทุนโคลัมโบ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และได้รับทุนต่อเนื่องในระดับปริญญาเอก สาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่ วิทยาลัยอิมพีเรียล ในเครือ มหาวิทยาลัยลอนดอน ของสหราชอาณาจักร และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ด้าน High Energy Nuclear Physics เมื่อปี 2513

ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

“กนกวรรณ” เป็นลูกสาวของ “นายสุนทร” หรือ “โกทร วิลาวัลย์” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดปราจีนบุรี 8 สมัย โดยครั้งนี้ได้นำทัพการเลือกตั้งจนได้ ส.ส. จังหวัดปราจีนบุรีมา 3 ที่นั่ง

ครมประยุทธ์24

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เกิดวันที่ 7 มีนาคม 2508 สำเร็จการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายและการวางแผน จากมหาวิทยาลัยเกริก โดยเริ่มต้นเส้นทางการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ส.จ.) ในปี  2533 – 2543 เป็นประธานสภาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปี 2538 – 2540 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครั้งแรกในการเลือกตั้ง ปี 2544 ได้รับการเลือกตั้งต่อมาในปี 2548 ปี 2550

ทั้งนี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2533 รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคกลาง และได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมพรรคเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“ร.อ.ธรรมนัส” เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และจบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 เริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางการเมืองที่พรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อปี 2542 ดูแลยุทธศาสตร์เลือกตั้งในสนามกรุงเทพฯ พอเข้าปี 2557 ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้เข้าสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จนล่าสุดได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ในตำแหน่งประธานยุทธศาตร์ภาคเหนือ ดูแลพื้นที่เลือกตั้ง จัดวางตัวผู้สมัคร และสามารถกวาดที่นั่งมาได้อย่างน่าพอใจ

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“มนัญญา” เป็นน้องสาวของ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และก่อนหน้านี้ได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี แต่เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ “ชาดา” จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ส่งผลให้ “มนัญญา” ต้องเปลี่ยนตัวเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแทน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประภัตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิตจากอินเดีย และจบปริญญาโท รัฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยมาหลายสมัย ตั้งแต่ปี 2518

“ประภัตร” ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคนที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตนายกรัฐมนตรีไว้วางใจมากที่สุด ทำให้เขาได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการในหลายกระทรวง หลายสมัย ต่อมาปี 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

“ศักดิ์สยาม” เป็นบุตรของ “ชัย ชิดชอบ” และน้องชายของ “เนวิน ชิดชอบ” เคยรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ ต่อมาจึงลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. และเคยเป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี 2550 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง

ทั้งนี้ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในปี 2555 หลังจากพ้นกำหนดการตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งก่อนหน้านั้นพี่ชาย “เนวิน ชิดชอบ” ได้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

เกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2527 เป็นบุตรของนายวิรัช รัตนเศรษฐ และนางทัศนียา รัตนเศรษฐ นักการเมืองจังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษา Master of Arts สาขา International Bisiness London Metropolition Unversity ประเทศอังกฤษ และรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายอธิรัฐ เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เขต 7 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย และล่าสุดคว้าเก้าอี้ ส.ส. ในนามพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ ถือเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในรัฐบาลชุดใหม่ โดยมีอายุ 35 ปี 1 เดือน

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายถาวร เสนเนียม เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2490 สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายถาวร เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่มีบทบาทมากคนหนึ่ง โดยเป็น ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดสงขลาอย่างต่อเนื่อง 6 สมัย รวมทั้งเคย ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเงา

เมื่อปี 2551 พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายถาวร เสนเนียม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และเคยเป็น รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ แต่ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.

ครมประยุทธ์25

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

“วีรศักดิ์” หรือ “กำนันป้อ” ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการไร่มันสำปะหลัง ก่อนหน้านี้ทำธุรกิจบริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดนครราชสีมา ขณะเดียวกันตระกูล “หวังศุภกิจโกศล” นับเป็นผู้มีบทบาทในการเมืองจังหวัดนครราชสีมาตระกูลหนึ่ง โดยในปี 2557 “กำนันป้อ” เคยส่งลูกชายลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย และเอาชนะคนจากพรรคภูมิใจไทยมาแล้ว

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เกิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2510 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก ในสาขาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต (บริหารธุรกิจอุตสาหกรรม) ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคกลาง 3 สมัย และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง 4 สมัย

เส้นทางการเมือง ได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 โดยลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เมื่อปี 2535 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดอีกครั้ง ในปี 2538 และได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 3 ของจำนวนสมาชิกสภาจังหวัด 9 คน และได้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาจังหวัด การเมืองระดับประเทศ ในปี 2550 เป็น ส.ส. จังหวัดระยอง เขต 1 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา

ครมประยุทธ์2 222

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2503 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวัสดุศาสตร์ และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ ก่อนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2558 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดือนธันวาคม 2559 ก่อนลาออกมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2497 จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และต่อระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา นายสุริยะถือเป็นอาของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ในปี 2550 นายสุริยะได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง ปัจจุบัน นายสุริยะเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เกิดวันที่ 13 มกราคม 2498 จบการศึกษาจาก ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี 2521 และปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขาบริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2538

ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน มีบุตร – ธิดา 2 คน คือ น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน และ นายเทิดไท เทพสุทิน และดำเนินธุรกิจก่อสร้าง (ห้างหุ้นส่วน สุโขทัย เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด) และกิจการฟาร์ม (เทิดไทฟาร์ม) ซึ่งหลังจากโดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการยุบพรรคไทยรักไทย สมศักดิ์ได้กลับมาบริหารเทิดไทฟาร์ม

นายสมศักดิ์ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยการจัดตั้ง “กลุ่มมัชฌิมา”

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ได้กลับสู่สนามการเมืองอีกครั้งในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ และแกนนำกลุ่มสามมิตร

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2511 จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท MBA, European University, Montreux ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ได้เริ่มลงสนามการเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม พรรคประชาธิปัตย์ และในปี พ.ศ. 2561 ได้เข้าร่วมงานในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) และในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายพุทธิพงษ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งข้าราชการการเมือง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2516 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยและอดีตนายกรัฐมนตรี กับคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา โดยเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองตามบิดา ด้วยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2544, 2548 และ 2550 สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

ในปี 2557 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สุพรรณบุรี แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต่อมาในปี 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ม.ร.ว. จัตุมงคล หรือที่สื่อเรียกกันติดปากว่า หม่อมเต่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย กลับมาลงเล่นการเมืองอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานกว่า 16 ปี โดยเขาเริ่มต้นรับราชการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จนกระทั่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตามด้วย อธิบดีกรมบัญชีกลาง อธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมสรรพากร ปลัดกระทรวงการคลัง และเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2539

ขณะอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ม.ร.ว.จัตุมงคลเคยเกิดความขัดแย้งด้านนโยบายการคลังกับรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงถูกคำสั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากราชการ จากนั้นในปี 2541 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ดึงเขาเข้ามาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย ก่อนที่ในปี 2544 จะถูกรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรปลดออกจากตำแหน่ง ด้วยสาเหตุที่เชื่อกันว่า เป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น

ครมประยุทธ์27

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

“พิพัฒน์” เป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจปั๊มน้ำมัน PT และเป็นสามีของ “นาที รัชกิจประการ” โดย “นาที” เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการหาเสียงในภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย แต่ “นาที” ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานจงใจแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ส่งผลต้องให้ “พิพัฒน์” ต้องมาดำรงแทนแบบกะทันหัน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เกิดวันที่ 14 ธันวาคม 2499 เป็นบุตรชายคนเดียวของนายโกศล ไกรฤกษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับ นางประดับ ไกรฤกษ์ มีศักดิ์เป็นหลานปู่ ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ อดีต ส.ส. พิษณุโลก หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตย ที่ต่อมาได้รวมตัวกับพรรคก้าวหน้า ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน นายจุติจึงนับเป็นทายาททางการเมืองรุ่นที่ 3 ของตระกูลไกรฤกษ์

นายจุติ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท Business Administration Queensland ประเทศออสเตรเลีย และหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.รุ่น20) ทั้งนี้ นายจุติ เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกหลายสมัย

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“สุวิทย์” สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเป็นผู้อำนวยการ SIGA เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารยุค คสช. นายสุวิทย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อมาในปี 2558 ได้รับแต่งตั้งเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จากนั้นในปี 2559 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อนลาออกมาเป็น รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ นายสุวิทย์ถือเป็นรัฐมนตรีคนแรกของกระทรวงนี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

เกิดวันที่ 25 มกราคม 2493 นายดอนได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขารัฐศาสตร์ และปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลีส และยังได้รับปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากวิทยาลัยกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์ ณ มหาวิทยาลัยทัฟท์ส์ เริ่มเข้ารับราชการในปี 2517 ในกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ในปี 2557 นายดอนได้เข้ารับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทน พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

เกิดวันที่ 15 ธันวาคม 2516 ที่จังหวัดชลบุรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบัณฑิต (LI.M INTERNATIONAL) มหาวิทยาลัยโกลด์เดน เกท สหรัฐอเมริกา

นายอิทธิพล เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2551 เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อมาจึงได้หันมาทำงานการเมืองท้องถิ่น โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา และได้รับเลือกตั้งถึง 2 สมัย โดยในปี 2561 เขาเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“เทวัญ” เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา น้องชายของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นอดีตประธานสโมสรฟุตบอลจังหวัดนครราชสีมา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา 3 สมัย

เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2535 สังกัดพรรคสามัคคีธรรม และได้รับเลือกเรื่อยมารวม 3 สมัย ก่อนที่ในปี 2550 จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

Avatar photo