Branding

แกะรอย!!พอร์ตโรงแรมเครือ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ กับเป้าหมายโรงแรมในมือกว่า 8,500 ห้อง

ขยับตัวครั้งไร ต้องเป็นข่าวใหญ่ทุกครั้ง สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่พยายามสลัดคราบราชาน้ำเมาไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ กลุ่มนอนแอลกอฮอล์ โดยล่าสุด ส่งบุตรสาว “วัลลภา ไตรโสรัส” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอทเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ออกมาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรกหรือ ไอพีโอ จำนวน 22.47% ของหุ้นทั้งหมดที่ออกและจำหน่ายแล้วของบริษัท

AWC 1
วัลลภา ไตรโสรัส

นั่นหมายความว่า เป็นครั้งแรกที่กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดโอกาสให้คนนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจของเครือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ กลุ่มโรงแรม อาคารสำนักงาน และโครงการค้าปลีก ซึ่งต้องยอมรับว่ามูลค่ามหาศาล

เพราะหากจะไล่เรียงไปนับแต่กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ขยายขาธุรกิจเข้าสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยดำเนินการในนามกลุ่มทีซีซี ตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2561 มีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วกว่า 33,400 ล้านบาท รวม 32 โครงการทั้งในและต่างประเทศ

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 16 แห่ง ใช้งบลงและพัฒนารวม 20,000 ล้านบาท ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า หรือโครงการค้าปลีก 12 โครงการ ลงทุนรวม 11,900 ล้านบาท และ อาคารสำนักงาน 4 แห่ง ใช้งบลงทุนและพัฒนา 1,500 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมที่ดินผืนงามที่อยู่ในทำเลสำคัญทั่วประเทศที่รอการพัฒนาอีกเพียบเพื่อเพิ่มมูลค่า

การขยับขับเคลื่อนของแอสเสท เวิรด์ฯ ที่แบ่งโครงการอสังหาริมทรัพย์จากทีซีซีแลนด์ มาจัดพอร์ตออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ และ 2.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า ซึ่งประกอบด้วย โครงการค้าปลีกและอาคารสำนักงาน ทำให้ภาพของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเครือเจริญ สิริวัฒนภักดี ชัดเจนขึ้น และเพื่อประกาศว่า วันนี้พร้อมที่จะขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในทุกกลุ่มที่เข้าไปทำตลาด

awc hotel map

เมื่อโฟกัสเฉพาะกลุ่มโรงแรมและการบริการ หากรวมแผนที่จะมีโรงแรมในเครือถึง 27 แห่ง รวมจำนวนห้องพักกว่า 8,500 ห้องในปี 2567 ภาพยิ่งชัดเจนว่า กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่บริหารงานโดย แอทเสท เวิรด์ฯ เป็นผู้นำที่ชัดเจนในธุรกิจโรงแรมเมืองไทย ภายในเวลาเพียง 25 ปีเท่านั้น

นั่นเพราะ กลุ่มทีซีซี ของเครือเจริญ สิริวัฒนภักดี ย่างก้าวสู่ธุรกิจโรงแรม เมื่อปี 2537 จากการเข้าซื้อกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล เจ้าของโรงแรมและกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 7 แห่ง และโรงแรม 5 แห่ง ที่กลุ่ม ทีซีซี ได้ปรับปรุง พัฒนา และรีแบรนด์ ได้แก่ 1.โรงแรม ฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพ 2. โรงแรมดับเปิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุทวิท กรุงเทพ ที่เปิดดำเนินการในปี 2556 3.โรงแรมพลาซ่า แอทธินี แบงค็อก ที่ปรับปรุงและเปิดบริการในปี 2544 ต่อมารีแบรนด์เป็น เดอะ แอทธินี, อะ ลักซ์ชัวรี่ คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพ ในปี 2560 4.แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค รีแบรนด์และปรับปรุงใหม่จากโรงแรมอิมพีเรียล เปิดธันวาคม 2559 และ 5.โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮาส์ บีช รีสอร์ท ซึ่งอยู่ระหว่างรีแบรนด์และปรับปรุง

จนถึงปัจจุบัน แอสเสท เวิรด์ ได้คัดเลือกโรงแรมจากกลุ่ม ทีซีซี เข้ามาบริหารเองรวม 10 แห่ง ได้แก่

1.โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค 2.โรงแรมบันยันทรี สมุย 3. โรงแรมดับเปิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุทวิท กรุงเทพฯ 4.โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท กรุงเทพฯ 5.โรงแรม เลอเมอริเดียน กรุงเทพฯ 6.โรงแรมเลอเมอริเดียน เชียงใหม่ 7.โรงแรม เชอราตัน สมุย รีสอร์ท 8.ดิ แอทธินี โฮเทล อะ ลักซ์ชัวรี่ คอลเล็คชั่น โฮเทล กรุงเทพ 9.โรงแรมวานา เบลลา อะ ลักซ์ชัวรี่ คอลเล็คชั่น รีสอร์ท เกาะสมุย และ 10.โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ รวมโรงแรม 10 แห่งที่เปิดให้บริการในปัจจุบันมีจำนวนห้องเปิดให้บริการทั้งสิ้น 3,432 ห้อง

แอสเสท รายได้รวม
รายได้รวมบริษัท แอสเสท เวิรด์ 3 ปี ย้อนหลัง

นอกจากนี้ ยังมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและมีแผนที่จะพัฒนาอีก 5 แห่ง ได้แก่ 1.โรงแรมเดอะ เมโทรโพล ภูเก็ต ซึ่งจะปรับปรุงและรีแบรนด์ใหม่ โดยจะใช้แบรนด์เชนโรงแรมระดับสากล 2.โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮ้าส์ บีช รีสอร์ท ที่จะปรับเป็นแบรนด์ มีเลีย 3.โรงแรมแบงค็อก แมริออท เดอะ เอเชียทีค อยู่ระหว่างการพัฒนา 4.โรงแรมอินน์ไซด์ แบงค็อก สุขุมวิท เป็นโครงการพัฒนาใหม่ และ 5.โรงแรมบันยันทรี กระบี่ที่จะพัฒนาใหม่เช่นกัน รวมโรงแรมที่อยู่ระหว่างปรับปรุงและพัฒนาใหม่มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 1,528 ห้อง

ขณะเดียวกัน แอสเสท เวิรด์ฯ ยังได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัทเจ้าของโรงแรมหรือกลุ่ม ทีซีซี อีก 12 แห่ง จำนวนห้องรวม 3,546 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ 1.โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพ สาธร 2.โรงแรมแบงค็อก แมริออท โฮเทล เดอะ สุริวงศ์ 3.โรงแรมหัวหิน แมริออท สปา แอนด์ รีสอร์ท และ 4. โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา หาดไนยาง รวมห้องพัก 989 ห้อง

 

ส่วนโรงแรมอีก 8 แห่งที่ทำสัญญาซื้อขายหุ้นแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนที่จะพัฒนา มีจำนวนห้องรวม 2,557 ห้อง ได้แก่ 1.โรงแรมเจริญกรุง 93 2.โรงแรมอีสต์ เอเชีย 3.โรงแรมบันยันทรี จอมเทียน พัทยา 4.โรงแรมแกรนด์โซเล่ 5.โรงแรมพัทยา มิกซ์ยูส รีเทล แอนด์ โฮเทล ดีเวลลอปเมนต์ 6.โครงการหัวหิน บีชฟรอนท์ 7. อิมพีเรียล แม่ปิง และ 8.พรพิงค์ ทาวเวอร์

โรงแรมผลประกอบการ

 

ด้วยจำนวนห้องพักในมือปัจจุบันและแผนงานในอนาคต กล่าวได้ว่า แอทเสท เวิรด์ เป็นผู้นำในธุรกิจโรงแรมเมืองไทยเรียบร้อยแล้ว และยิ่งมองยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ด้วยการวางตำแหน่งทางการตลาดของโรงแรมแต่ละแห่งให้จับกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ซึ่งแบ่งออกเป็น กลุ่มจัดประชุมสัมมนาหรือไมซ์, กลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจ, กลุ่มครอบครัวและกลุ่มนักท่องเที่ยว จะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 กลุ่มเป้าหมายล้วนมีโอกาสเติบโตทั้งสิ้น

เห็นได้จากกลุ่มจัดประชุมสัมมนาหรือไมซ์ ที่บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด ระบุว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งหมดมูลค่ารวม 251,400 ล้านบาท สร้างมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 177,200 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งแอทเสท เวิรด์ฯ เห็นผลบวกชัดเจนจากการจับกลุ่มนี้ เมื่อปรับปรุง โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนพาร์ค ให้เป็นโรงแรมสำหรับลูกค้ากลุ่มไมซ์ ซึ่งใช้เงินลงทุนถึง 4,482 ล้านบาท แล้วพบว่ามีรายได้จากลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากค่าอาหารและเครื่องดื่ม นอกเหนือจากค่าห้องพัก

 

ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็นับเป็นอีกกลุ่มลูกค้าสำคัญ เมื่อบว่า ในปี 2561 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย 38.3 ล้านคน มีการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา 10.1% อีกทั้งกรุงเทพยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง 3 ปี ติดต่อกัน โดยปี 2561 มีนักท่องเที่ยวค้างแรมชาวต่างชาติเดินทางมายังกรุงเทพ ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองสูงถึง 24.6 ล้านคน จึงได้ปรับปรุงโรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ เอเชียทีค และ พัทยา มิกซ์ยูส รีเทล แอนด์ โฮเทล ดีเวลล็อปเมนต์ เพื่อเป็นโรงแรมมิกซ์ยูส ตอบสนองความต้องการทั้งกลุ่มไมซ์และกลุ่มนักเดินทางเพื่อท่องเที่ยว เป็นต้น

banner overview

การปักหมุดโรงแรมในทำเลสำคัญๆ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด จึงมีการวางโพซิชั่นนิ่งชัดเจนว่าจับกลุ่มเป้าหมายไหน ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจโรงแรมในเครือแอสเสท เวิรด์

ไม่นับรวมการเป็นเครือข่ายพันธมิตรของเชนโรงแรมระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ได้แก่ แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล, อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮท็ล กรุ๊ป, กลุ่มสตาร์วูด, ฮิลตัน, บันยันทรี, มีเลีย และ โอกุระ ที่ช่วยให้แอสเสท เวิรด์ สามารถออกแบบและพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งได้ความแข็งแกร่งของเครือข่ายระดับโลกด้านการขายและการตลาดซึ่งมีสมาชิกประจำมากกว่า 300 ล้านราย ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการของแอสเสท เวิรด์ มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด

เห็นได้จากผลประกอบการในปี 2561 แอทเสท เวิรด์ มีรายได้จากธุรกิจหลัก 12,415 ล้านบาท มาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการ 60% จากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 40% ซึ่งหากนับเฉพาะรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ พบว่า มีการเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 4,656.41 ล้านบาท คิดเป็น 51.80% จากรายได้รวม ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 6,041.24 ล้านบาท คิดเป็น 60.76% จากรายได้รวม และปี ปี 2561 รายได้อยู่ที่ 6,682.58 ล้านบาท คิดเป็น 60.78% จากรายได้รวม

ที่สำคัญคือ การที่กลุ่มทีซีซี เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งแอสเสท เวิรด์ มีสิทธิในการซื้ออสังหาริมทรัพย์บางแห่งจากกลุ่มบริษัท ทีซีซี เพื่อการพัฒนาโครงการในอนาคต ภายใต้สัญญาการให้สิทธิ ซึ่งจะทำให้บริษัทเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์และที่ดินที่มีคุณภาพในทำเลสำคัญจากกลุ่มบริษัททีซีซี จะทำให้บริษัทมีศักยภาพเติบโต ถือเป็นสิ่งกีดขวางสำคัญในการสกัดกั้นคู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด

MPH banner

อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน จากการที่เป็นทั้งเจ้าของและบริหารพอร์ตโฟลิโอที่ประกอบไปด้วยอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มโรงแรมและการบริการ มีอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในทำเลที่สำคัญทั่วประเทศไทย ซึ่งจะได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการปรับปรุงและขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟเร็วสูงไปยังโครงการพัฒนาระเบีบงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเครือข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ

อีกทั้ง โครงการส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นโครงการที่บริษัทเจ้าของเป็นกรรมสิทธิ์ถึง 90% และมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของราคา รวมทั้งตกลงเข้าซื้อโรงแรมเพิ่มอีก 12 แห่ง ตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 2562 ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกและข้อได้เปรียบของแอสเสท เวิรด์ ทั้งสิ้น

การดีดลูกคิดรางเพชรของกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี เพื่อเดินหมากในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งนี้ จึงไม่ธรรมดาจริงๆ

Avatar photo