Economics

ประมูลโครงการไฮบริดใหญ่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร 2,000 ล้านบาท

กฟผ. ประมูลโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้า จากเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาด 45 เมกะวัตต์ นำร่องโครงการไฮบริดแห่งแรกใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท

ฉัตรชัย มาวงศ์

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ออกประกาศประกวดราคาจัดซื้อ และจ้างก่อสร้างแบบ International Competitive Bidding โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-Floating Solar Hybrid)

โครงการรนี้มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ เป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีกำหนดขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน – 26 กรกฎาคม 2562 และจะเปิดซองประกวดราคาในวันที่ 20 สิงหาคม 2562

สำหรับโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำบนพื้นที่ผิวน้ำเนื้อที่ 450 ไร่ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass ถือว่าเหมาะสมกับการวางแผงโซลาร์เซลล์ใกล้ผิวน้ำที่มีความชื้นสูง และมีการเคลื่อนไหวของผิวน้ำตลอดเวลา เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า สามารถบริหารจัดการน้ำ ทั้งเวลากลางวัน และกลางคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ช่วงกลางคืน

ในอนาคตยังสามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้ระบบมีความเสถียรมากยิ่งขึ้น และนำระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) มาควบคุมการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งยังใช้ระบบส่งไฟฟ้าเดิมของ กฟผ. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ต้นทุนต่ำ

นอกจากนี้โครงการฯ ได้ติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุแบบเดียวกับท่อประปา ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำ ไม่กระทบกับพื้นที่การเกษตร และเส้นทางเดินเรือของชุมชน

โครงการดังกล่าว มีแผนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2563 และ กฟผ. ยังเตรียมดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดบริเวณเขื่อนอื่นๆ ของ กฟผ. อีกหลายแห่งอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิต ทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ( พีดีพี 2018 )

Avatar photo