CSR

กฟผ.จับมือภาครัฐ ดึงนวัตกรรมสร้างมูลค่าผักตบชวา

กฟผ. ดึงนวัตกรรมเครื่องร่อนปุ๋ยอินทรีย์ผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวา ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณผักตบชวาบริเวณเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

1 4

นายศานิต นิยมาคม ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” ที่กฟผ.ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน รวมถึง หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 มณฑลทหารบกที่ 22 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการชลประทานอุบลราชธานี กรมชลประทาน หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนปากมูล อุบลราชธานี กรมประมง  และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร  เป็นการนำนวัตกรรมการผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่พลิกกลับกอง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เครื่องร่อนปุ๋ยอินทรีย์ของ กฟผ. มาร่วมแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่มีปริมาณหนาแน่นในเขื่อนปากมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  สาเหตุหลักของน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ และทำให้เสียทัศนียภาพในด้านการท่องเที่ยว

S 8126524

การนำผักตบชวามาผลิตปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง ช่วยสร้างคุณค่า และก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนในพื้นที่ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีสำหรับเพาะปลูก อีกทั้งยังส่งผลให้คุณภาพดินเพาะปลูกในชุมชนดีขึ้น และยังช่วยสร้างรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยหมักเป็นสินค้าของวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการ “ผักตบชวา สวะที่มีคุณค่า” ได้นำแนวทางธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business Model) มาปรับใช้ โดย กฟผ. สนับสนุนเงินลงทุนบางส่วน เครื่องจักร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาบ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานผัง 16 บ้านคำวังยาง อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

S 8126527

ในปี 2562 ชุมชนมีเป้าหมายที่จะนำผักตบชวา จำนวน 400 ตัน มาทำปุ๋ยหมัก จำนวน 120 ตัน โดยจะแบ่งปุ๋ยหมักให้สมาชิกตามสัดส่วนการร่วมลงทุนค่ามูลสัตว์ เพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูก จำนวน 60 ตัน และวิสาหกิจชุมชนนำไปจำหน่ายในรูปของผลิตภัณฑ์ดินอินทรีย์ จำนวน 60 ตัน

“กฟผ. หวังว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาปริมาณผักตบชวาในพื้นที่ พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน” รองโฆษก กฟผ. กล่าว

Avatar photo