Finance

ก้าวสู่ยุค “หุ้นพลังงานทดแทน” ขาลง

1 01

 

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 กำลังจะผ่านไป ปีนี้คงไม่ใช่เวลาของหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน เพราะตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่อง หลังจากได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม  ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นเริ่มเป็นทิศทางขาลง และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าแนวรับต่ำสุดของดัชนีหุ้นไทยรอบนี้จะอยู่ที่จุดใด

ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนรายใหญ่อีก 2 บริษัทอย่างหุ้นบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และหุ้นบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ถูกกระหน่ำเทขายอย่างหนัก

เหตุการณ์ที่หุ้น SUPER ถูกถล่มขายจนราคาแตะระดับต่ำสุดของวันที่ระดับ 30% หรือราคาฟลอร์ ซึ่งไม่ค่อยได้เห็นบ่อยในตลาดหุ้นไทย  ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายด้วยบัญชีสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือบัญชีมาร์จิน ต้องแบกรับผลขาดทุนจนลุกลามและเกิดความเสียหาย จนบรรดาเจ้าของหุ้น ต้องออกโรงยื่นร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบแรงเทขายที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ และเชื่อว่า มีกระบวนการร่วมมือกันทุบหุ้นเข้ามาเกี่ยวข้องในครั้งนี้

แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนหุ้นพลังงานทดแทนอีกครั้ง

2 01

สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นพลังงานทดแทนตั้งแต่ต้นปี 2561 พบว่าหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าโซลาร์และพลังงานลม ส่วนใหญ่ราคาหุ้นปรับตัวลง ได้แก่ หุ้น SUPER ลดลง 6.84% หุ้น SPCG ลดลง 2.28% หุ้น BCPG ลดลง 17.65%หุ้น DEMCO ลดลง 23.67%หุ้น EA ลดลง 27.14% หุ้น GUNKUL ลดลง 20.71% หุ้น SCG ลดลง 2.07%

จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า หุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน ทั้งโซลาร์และพลังงานลม ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงรับซื้อไฟฟ้า ขณะที่ก็ขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เนื่องจากราคาหุ้นได้รับตัวขึ้นไปสะท้อนกับความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าที่บริษัทมีกำลังการผลิตในปัจจุบันไปแล้ว ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ลดลงไปทันที ขณะเดียวกันดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ช่วงขาลงจึงเป็นปัจจัยลบซ้ำเติม

“หุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถูกลดความน่าสนใจในการลงทุนมาระยะหนึ่ง หลังจากที่นโยบายรับซื้อไฟเปลี่ยนแปลง และทำให้อนาคตไม่มีปัจจัยใหม่สนับสนุน รวมทั้งปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปสะท้อนปัจจัยพื้นฐานแล้ว หากผู้ลงทุนสนใจจะลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าว ควรหันไปให้ความสนใจหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะและชีวมวลแทน เพราะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐน่าจะยังให้การสนับสนุนต่อไป และดูเหมือนจะมีอนาคตมากกว่ากลุ่มโรงไฟฟ้าโซลาร์และพลังงานลม”

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า การที่กระทรวงพลังงานจะยังรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในช่วง 5 ปีข้างหน้าอยู่ (2561-2565) แต่เปลี่ยนนโยบายมาเลือกรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ราคาขายต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาที่รับซื้อจากสายส่ง คือในอัตรา 3.6 บาทต่อหน่วย เทียบกับราคาขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์ในอดีตที่ 5.66 บาทต่อหน่วย และล่าสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย สำหรับโครงการ SPP Hybrid Firm 300 เมกะวัตต์, ราคาขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลม เฉลี่ยอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย สะท้อนให้เห็นว่าจากนี้ไปผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ของโครงการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตจะลดลง

ฝ่ายวิจัยประเมินว่า การเติบโตของกลุ่มพลังงานทดแทนจำกัดมากขึ้น แม้ภาครัฐยืนยันจะเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าในช่วง 5 ปี ข้างหน้า แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสนใจเข้าร่วมประมูลลดลงเมื่อเทียบกับอดีต

ขณะที่ภาพรวมกลุ่มพลังงานทดแทน ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทน 8.6 พันเมกะวัตต์ คิดเป็น 43.9% ของกำลังการผลิตตามแผนพัฒนา พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับปี 2558-2579 ที่ 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวกว่า 20 ปี จึงเหลือกำลังการผลิตอีกราว 1.1 หมื่นเมกะวัตต์ ในระยะเวลา 19 ปี คิดเป็นกำลังผลิตที่จะเกิดขึ้น เฉลี่ยเพียงปีละ 580 เมกะวัตต์เท่านั้น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) คาดแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2561 จะเน้นไปที่การจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และราคาขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นภาระของประชาชน ฝ่ายวิจัยฯ จึงมีแนวโน้มปรับลดคำแนะนำ กลุ่มพลังงานทดแทน เป็น “น้อยกว่าตลาด” จากเดิม “เท่ากับตลาด”

นอกจากนี้ เมื่อย้อนไปพิจารณาผลประกอบการงวดไตรมาสแรกของปี 2561 หุ้นพลังงานทดแทนมีทั้งกำไรเพิ่มขึ้นและลดลง เช่น หุ้น SUPER กำไรสุทธิอยู่ที่ 412.31 ล้านบาท ลดลง 18.35% เมื่อเทียบกับจากงวดเดียวกันปีก่อน  หุ้น SPCG กำไรสุทธิ 1,572.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.79%  หุ้น BCPG กำไรสุทธิ 351.15 ลดลง 22.65% หุ้น DEMCO กำไรสุทธิ 77.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.81% หุ้น EA กำไรสุทธิ 1,946.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 98.76% หุ้น GUNKUL ขาดทุน 109 ล้านบาท และ หุ้น SCG  กำไรสุทธิ 46.77 ล้านบาท ลดลง 49.24%

ตอนนี้ผู้ลงทุนที่ถือหุ้นพลังงานทดแทนทั้งโซลาร์และลม คงต้องถึงเวลาทบทวนกันว่า หุ้นในพอร์ตลงทุนของตัวเองจะมีอนาคตที่ควรค่ากับการถือลงทุนต่อไปหรือไม่ รีบตัดสินใจกันให้ดี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight