COLUMNISTS

เปลี่ยนสู่ยุค ‘การเมืองภาคพลังงาน’

Avatar photo
1187

ค่อนข้างจะลงตัวแล้วสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ ที่เป็นโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หากไม่มีอะไรพลิกโผในช่วงโค้งสุดท้าย ชื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพปชร.เข้ามานั่งกุมบังเหียนพลังงานของประเทศเป็นที่แน่นอน ในฐานะเป็นกุนซือใหญ่ตั้งแต่ขึ้นรูปพรรค เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน และเจรจาต่อรองมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นโยบายใดที่ผลักดันคงจะประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก

มอบจักรยาน 4

มาดูนโยบายของพปชร.ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่นละออง และลดมลพิษในเมือง มีนโยบายส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า (EV) เป็นธงนำ ถึงขั้นประกาศนโยบายจริงจัง “เอารถเก่ามาแลก EV ได้ส่วนลด 1 แสนบาท” และมีแนวทางจะศึกษาเรื่องภาษีของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป้าหมายจะทำให้รถ EV ถูกกว่าพลังงานปกติ ให้ประชาชนใช้รถ EV มากขึ้น

เป็นอย่างนี้แล้ว EV ฉลุยแน่นอน ไม่เพียงแค่ Take Off อย่างที่วงการยานยนต์ประเมินไว้ แต่คงพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างเครื่องบินไอพ่น ด้วยความถนัดของ ว่าที่รมว.พลังงานคนใหม่ ที่คลุกคลีกับวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่กำเนิด ในฐานะตระกูลเจ้าของ “อาณาจักรไทยซัมมิท” ผู้ผลิตชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ

หากมาแนวนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงพลังงาน และหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะผลักดันเรื่องนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็กำลังสรุปแผนงาน EV เสนอให้รมว.คนใหม่มาตัดสินใจทิศทางอยู่พอดิบพอดี

นายกุลิศ บอกไว้ว่า EV จะเป็นเรื่องหนึ่ง ที่เขาจะนำเสนอให้รมว.พลังงานคนใหม่ กำหนดทิศทาง และวางนโยบายสำคัญๆมารองรับ เพราะมองว่าถ้าไม่ส่งเสริม EV ก็มา ตอนนี้รถ EV จากประเทศเพื่อนบ้านวิ่งกันเกลื่อนเมืองไทย หลังจากที่มีการยกเว้นจัดเก็บภาษีนำเข้ารถ EV (รถยนต์นั่ง) จากอาเซียน ทำให้มีรถ EV เข้าสู่ประเทศมากขึ้น ผลที่ได้รับ ก็คือการเก็บภาษีรถยนต์ในประเทศน้อยลง

เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ EV ก็เป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อม กระทรวงพลังงานจึงมีแนวทางให้เกิดนโยบายการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถ EV อย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมนวัตกรรมที่เกิดในประเทศไทยไปพร้อมกัน ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า  รวมถึงการส่งเสริมการผลิตแบตเตอร์รี่สำรองไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นหัวใจของรถ EV เพื่อให้รถวิ่งได้ไกลขึ้นต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เหล่านี้รมว.พลังงานคนใหม่ช่วยได้แน่นอน

งานนี้หากได้ว่าที่รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ร่วมทำงานด้วยกันมานานอย่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ น่าจะเข้าขากันได้อย่างดี ย้ำว่า EV ของไทยหลังจากนี้ไปเร็วแน่นอน ผู้เกี่ยวข้องเตรียมตัวให้ดี โดยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิพิเศษภาคตะวันออก ( EECI) ที่มีปตท.เป็นเจ้าครองนคร เป็นกลไกในการขับเคลื่อน

และนอกจาก EV แล้ว มีอีกหลายเรื่องที่กระทรวงพลังงาน สรุปให้รมว.พลังงานคนใหม่ตัดสินใจ หนีไม่พ้นเรื่องการประมูล และจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องใหญ่ที่น่าจับตามองเห็นจะได้แก่ การเดินหน้าเปิด ” ประมูลสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่ “ ซึ่งเดิมมีแผน จะเปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจเสนอเข้าขอรับสิทธิสำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยภายในเดือนมิถุนายนนี้

แอลเอ็นจี กฟผ.2

การเคาะผู้ชนะประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ที่ได้ชื่อผู้ชนะประมูลแล้ว รอรมว.คนใหม่เซ็นลงนามเท่านั้น เป็นอันเรียบร้อย

รวมถึงการเข้ามาดูแลเงินก้อนใหญ่ 2 กอง จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีฐานะสุทธิ ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ที่ 34,826 ล้านบาท และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีเงินคงเหลือ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ 27,756.66 ล้านบาท ล่าสุดได้วางกรอบวงเงินที่จะจัดสรรประจำปี 2563 ที่ 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอโครงการฯในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2562

ในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก ภายหลัง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ จะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หรือวันที่ 24 ก.ย.2562 นี้ ซึ่งจะมีการจัดโครงสร้างภายในใหม่ เน้นความเป็นอิสระและโปร่งใส มีการแยกหน่วยงานมาดูแลอย่างจริงจัง ชื่อว่า “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” จากเดิมเป็นงานที่ฝากไว้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และตั้งบอร์ดกองทุนฯใหม่ด้วย มีรมว.พลังงานเป็นหัวโต๊ะ ควบประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก็ต้องดูต่อไปหลังจากนี้ว่า จะโปร่งใสดังใจหวังหรือไม่

ส่วนกองทุนอนุรักษ์ฯ เป็นอีกเรื่องที่ต้องจับตา เพราะเวลานี้นายกุลิศ กำลังรื้อใหญ่ เพื่อสร้างความโปร่งใสเช่นกัน มีคณะทำงานมาติดตาม และประเมินผลเป็นกิจลักษณะ ลดข้อครหา “ขุมทรัพย์” ของผู้แสวงหาประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาล้ำลือกันว่า “โครงการผ่านง่าย”

IMG 20190216 151656

สำหรับโรงไฟฟ้าของกฟผ.ก็เตรียมสรุปแผนการลงทุนเสนอต่อรมว.พลังงานคนใหม่เช่นเดียวกัน ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 8 แห่งกำลังผลิต 6,100 เมกะวัตต์ รวมถึงแผนลงทุน “ระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสาน”  (Hydro-Floating Solar Hybrid) ที่ผลิตจากพลังน้ำจากเขื่อน และ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นรูปแบบโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อน กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ โดยจะเดินหน้าโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะเปิดขายซองประมูลหาผู้ดำเนินการติดตั้งในรูปแบบการเปิดประมูลแบบนานาชาติ (International Competitive Bidding ) ได้ช่วงกลางเดือนนี้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเดินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับ 2018 (2561-2580) ที่ต้องรอดูว่ารมว.พลังงานคนใหม่จะมาขยับเป้าหมายอะไรบ้างในแต่ละเชื้อเพลิง แต่รื้อทั้งแผนคงยาก เพราะนายกุลิศ ตีกันไว้แล้วว่า ผ่านการรับฟังความเห็น และผ่านครม. ไปแล้ว รวมถึงกำลังเดินสายไปทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศ แต่ที่ต้องการนักการเมืองมาขับเคลื่อนมากๆเห็นจะเป็น “โรงไฟฟ้าขยะ” เพราะต้องอาศัยหลายกระบวนท่าถึงจะจัดสรรลงตัว  เนื่องจากมีความสลับซับซ้อนทั้งเนื้องาน และคนที่เกี่ยวข้อง

…ติดตามกันต่อไปว่าการทำงานของรมว.พลังงานคนนี้ ที่มาจากภาคการเมือง ผ่านการฟาดฟันตำแหน่งแบบเลือดตากระเด็น จะเข้าตาประชาชน ปราศจากข้อครหาในเรื่องโปร่งใส/ไม่โปร่งใส  ลบภาพเดิมๆของนักการเมือง สมกับที่ประชาชนรอคอยหรือไม่