Technology

ไทยยังรั้งที่สามละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รองเวียดนาม-อินโด

BSA

ไอดีซีเผยผลสำรวจประเทศไทยยังละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยอยู่ที่ 66% ขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 57% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 714 ล้านดอลล่าร์ ด้านบีเอสเอ (BSA) ชี้เป็นการพัฒนาในเชิงบวก เพราะมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก ประจำปี 2560 ของเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ร่วมกับไอดีซี ทำการสำรวจใน 110 ประเทศทั่วโลก พบการลดลงของอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างเป็นรูปธรรม ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โดยเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น

  • การหดตัวของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
  • การบังคับใช้กฎหมายของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • การรณรงค์เรื่องภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อย่างต่อเนื่องของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ เผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์อยู่ที่ 37% คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 46,302 ล้านดอลล่าร์ หรือ 1.48 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 39%

BSA

ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2560 อยู่ที่ 57%  คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16,439 ล้านดอลล่าร์ หรือ 526,048 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 61%

“บีเอสเอไม่ได้บอกว่าใช้ซอฟต์แวร์ไลเซ่นส์แล้วจะรอดพ้นจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์ แต่ถ้าใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีไลเซ่นส์ แล้วถูกโจมตีขึ้นมา เท่ากับว่าจะไม่มีใครรับผิดชอบต่อการถูกโจมตีนั้น ๆ ให้กับองค์กรเลย ซึ่งทุกวันนี้ CIO ในองค์กรต่าง ๆ ตระหนักดีว่า การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้องค์กรมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีโดยมัลแวร์แล้ว และหากเกิดการโจมตีขึ้นมา ซีอีโอขององค์กรคือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างระดับโลกมากมาย อีกทั้งยังทำให้แบรนด์เสื่อมเสียชื่อเสียงด้วย”

ทั้งนี้ มีการประมาณการว่าคอมพิวเตอร์ที่ติดมัลแวร์ หรือถูกโจมตีทางไซเบอร์นั้น ค่าเสียหายต่อเครื่อง (กรณีตัวเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ และข้อมูลภายในเครื่องสูญหาย) อยู่ที่ 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งในจุดนี้ทำให้หลายองค์กรมองว่า การซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ที่มีการอัปเดตแพทช์นั้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกโจมตีให้น้อยลงได้

ด้านนางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ กล่าวว่า “อัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์ในประเทศไทย ลดลงร้อยละ 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนยังต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป”

โดยจุดที่ยังไม่พบได้ในประเทศไทยเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาก็คือ หากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นมีการทำข้อมูลรั่วไหล หรือถูกโจมตีทางไซเบอร์จะต้องแจ้งต่อตลาด และแน่นอนว่าจะปรากฏเป็นข่าวใหญ่ เช่น กรณีของ Equifax ที่ทำข้อมูลลูกค้ารั่วไหล 143 ล้านรายเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

BSA

ทั้งนี้ การสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี 2560 ของบีเอสเอ ใช้วิธีคำนวณจำนวนและมูลค่าของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก และมีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้ซอฟต์แวร์ พนักงานบริษัท และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร จำนวนเกือบ 23,000 คน จากผลการสำรวจและบทวิเคราะห์ พบว่าผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์ถูกต้อง มีโอกาสสูงที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายขององค์กรมีโอกาสถูกจู่โจมจากผู้ประสงค์ร้าย นำมาซึ่งความเสียหายอื่นๆ เช่น สูญเสียข้อมูลสำคัญขององค์กร

“ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทำให้มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการใช้งานซอฟต์แวร์เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ขององค์กร เพราะการบริการจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management – SAM) ตลอดจนการอัปเดตซอฟต์แวร์และระบบรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นหนทางหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยองค์กร นอกจากนี้ การจัดการที่ดีด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ ยังช่วยให้องค์กรลดต้นทุนด้านซอฟต์แวร์ และเพิ่มผลกำไรในการประกอบการได้อีกด้วย” มร. ดรุณ ซอว์เนย์ กล่าว

“ไม่เพียงแต่ในองค์กรธุรกิจเท่านั้น ภาครัฐถือเป็นผู้ใช้งานซอฟต์แวร์รายใหญ่ หากทุกหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องและครบถ้วน จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ภาคเอกชน และประชาชนโดยทั่วไป ที่สำคัญไปกว่านั้น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้อง ถือเป็นวิธีขั้นพื้นฐานในการป้องกันภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ่นส์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์ และการถูกจู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์ นอกจากนั้น หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ควบคุมข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน หน่วยงานภาครัฐจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการบริหารจัดการสินทรัพย์เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์ ให้ได้มาตรฐานด้วย” นางสาววารุณี  รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ กล่าวปิดท้าย

 

Avatar photo