Startup

30 องค์กรรัฐ-เอกชนลงขันกว่า 500 ล้าน พัฒนาสตาร์ทอัพไทยสู่ยูนิคอร์น

30 องค์กรรัฐ-เอกชน จับมือพัฒนาสตาร์ทอัพไทย เตรียมใส่เงินทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท บ่มเพาะสตาร์ทอัพครบวงจร เล็งเป้าหมายมีสตาร์ทอัพสัญชาติไทยไต่ไปถึงระดับยูนิคอร์น

28538

วันนี้ (11 มิ.ย.) มีการลงนามความร่วมมือของ 30 องค์กรภาครัฐ และหน่วยงานในกำกับของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยจัดตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ไทยแลนด์) เมื่อต้นปี2562 ที่ผ่านมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท เป็น National Startup Platform หรือไซเบอร์พอร์ตไทยแลนด์ ที่ครบวงจร เป็นศูนย์กลาง สร้าง พัฒนา และบ่มเพาะสตาร์ทอัพในเชิงลึก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ กล่าวว่า หลังจากลงนามครั้งนี้ ทั้ง 30 องค์กรจะหารือในรายละเอียดถึงสัดส่วนการใส่เงินลงทุนเข้ามาในบริษัท คาดว่าจะได้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เพื่อนำไปสนับสนุนสตาร์ทอัพ และลงนามอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ และระหว่างนี้จะมีการสรรหาซีอีโอของบริษัท และวางโครงสร้างองค์กร เพื่อสนับสนุนการทำงาน โดยจะมี 30 องค์กรเข้ามาสนับสนุนบุคลากร และทรัพยากรต่างๆ เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพ

บริษัทอินโนสเปซ เป็นหน่วยงานที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร แต่เป็นรูปแบบ Not for profit profitable เพื่อเป็น National Startup Platform ขับเคลื่อนการสร้าง Innivative Ecosystem โดยจะสนันสนุนสตาร์ทอัพตลอดวงจรชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงตั้งต้น ในกลุ่ม Deep Tech ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาออกเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ยา หรือวัคซีนรักษาโรค เป็นต้น

สาเหตุที่ต้องตั้งบริษัทอินโนสเปซ วัตถุประสงค์หลักให้เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ จากเดิมแต่ละองค์กรต่างคนต่างทำ ซึ่งจะส่งผลดี เพราะในบางเรื่องแต่ละสตาร์ทอัพสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ เช่น หุ่นยนต์ เป็นต้น ดังนั้นหลักของการทำงานจะประกอบไปด้วย การเสริมซึ่งกันและกัน (Synergize) การทำให้ไปในทิศทางเดียวกัน (Alignment) และเติมสิ่งที่ขาดอยู่ (Fill the Gap ) ไม่ทับซ้อนในสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยมีเป้าหมายจะยกระดับสตาร์ทอัพไทยถึงระดับยูนิคอร์น หรือมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ให้เกิดขึ้นให้ได้

28533
เทวินทร์ วงศ์วานิช

บริษัทได้ร่วมมือกับ ฮ่องกงไซเบอร์พอร์ต องค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมสตาร์ทอัพของฮ่องกง และเร็วๆนี้จะลงนามเพิ่มเติมกับอิสราเอล และเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย โดยทั้ง 3 ประเทศมีจุดแข็งแตกต่างกัน ฮ่องกงถนัดในเรื่องการค้า อิสราเอลโดดเด่นในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเทียบเท่าสหรัฐในเวลานี้ ขณะที่เกาหลีใต้เน้นการนำสตาร์ทอัพมาต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรม และภายในปีนี้ เราจะเริ่มกระบวนการสรรหา และบ่มเพาะสตาร์ทอัพ คาดว่าจะสามารถพัฒนาสตาร์ทอัพได้ 1-2 รายแน่นอน

“แต่ละบริษัทที่ส่งเสริมสนับสนุนสตาร์ทอัพอยู่แล้ว ก็ทำต่อไป แต่บริษัทอินโนสเปซ จะเหมือนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสตาร์ทอัพ เพื่อให้เรามีข้อมูลว่า อะไรที่ขาด และเข้ามาสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพในเรื่องที่ขาดนั้น และต่อไปเมื่อเริ่มขับเคลื่อนเครื่องมือนี้ แต่ละบริษัทที่เข้ามาร่วมมือ ก็สามารถเลือกกลุ่มสตาร์ทอัพในส่วนที่สอดคล้องกับธุรกิจ เพื่อนำไปต่อยอดได้ “

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการ ยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่เข้ามาร่วมส่งเสริมสตาร์ทอัพ ภายใต้กลไกบริษัท อินโนสเปซ กล่าวว่า กฟผ.เห็นความสำคัญของนวัตกรรม จึงเข้ามาร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพ โดยกฟผ.พร้อมให้ความร่วมมือในการบ่มเพาะ ด้านองค์ความรู้ และการลงทุนอย่างครบวงจร และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มาช่วยสนับสนุน สำหรับนวัตกรรมที่กฟผ.สนใจ เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของโดรน ให้ใช้ในการตรวจสายส่งไฟฟ้าที่อยู่ในทุกสภาพ เป็นต้น

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และวิศวกรรม บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีการจัดตั้งทีม พนักงานทีเรียกว่า “เอสเพรสโซ่” เพื่อติดตามความก้าวหน้าของนวัตกรรมต่างๆ จะนำทีมนี้ มาช่วยพัฒนาสตาร์ทอัพด้วย เพราะ บริษัทอินโนสเปซ ถือเป็นแพลตฟอร์มของประเทศไทยที่เราต้องสนับสนุน

Avatar photo