COLUMNISTS

การบริหารคนเก่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
2794

โลกในยุค 4.0 มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรให้เกิดการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หากจะพิจารณาถึงแนวโน้มที่สำคัญในโลกปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับ “คน” เพราะบุคลากร ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กร และสามารถกำหนดสถานะความเป็นอยู่ขององค์กรได้ ดังนั้น องค์กรและนักบริหารทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องทราบถึงความท้าทายในการบริหารทรัพยากรบุคคลของโลก เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เริ่มตั้งแต่ในระบบการศึกษา หลายปีที่ผ่านมา ระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับสถาบันอุดมศึกษา หรือระบบแอดมิชชัน (Admission) นั้น เด็กๆ ต้องผ่านการสอบหลายครั้ง ทั้ง GAT-PAT, 9 วิชาสามัญ และ O-Net ที่จัดตลอดทั้งปี บางมหาวิทยาลัยก็มีการจัดสอบตรงของตนเอง เพื่อคัด “คน” เข้าเรียนเพื่อผลิต “คน” เข้าสู่ระบบของการทำงานในโลกใบนี้ต่อไป ซึ่งไม่ว่าภาคธุรกิจ หรือภาครัฐเองทุกองค์กรล้วนแล้วแต่แสวงหาและต้องการ “คนเก่ง” มาร่วมงานด้วยวิธีการคัดสรรไม่ว่าจะด้วยประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน รางวัลและใบประกาศนียบัตรที่ได้รับ แต่เมื่อองค์กรนั้นๆได้รับคนเก่งเข้ามาทำงาน หากไม่รู้จักวิธีบริหารและจัดการคนเก่ง ดึงศักยภาพของคนเหล่านั้นออกมาให้เหมาะสมกับตำแหน่งหรืองานที่ได้รับมอบหมาย การได้คนเก่งเข้ามาร่วมงานนั้นถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในบริหารบุคคล

การบริหาร “คนเก่ง” เป็นกระบวนการที่ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อสรรหา พัฒนา และรักษาคนเก่งในองค์กรโดยสอดคล้องกับภารกิจ ลักษณะงาน และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งความสามารถและศักยภาพของบุคลากรในองค์กรนั้นเป็นองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนให้องค์กรมีความเติบโตก้าวหน้า โดยการพัฒนาองค์กรให้มีความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องเรียนรู้วิธีการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการบริหารจัดการคนเก่ง จะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นแรกในการคัดสรรจนถึงขั้นสุดท้ายที่บุคคลนั้นเติบโตไปกับองค์กร ซึ่งกลยุทธ์ในการบริหารจัดการคนเก่งนั้นต้องสร้างจากพื้นฐานที่มาจาก ค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรด้วย ประกอบไปด้วย การระบุคนเก่ง ซึ่งจะใช้ค่านิยมขององค์กรเป็นตัวชี้วัด ในการกำหนดลักษณะคนเก่งว่า คนเก่งขององค์กรมีลักษณะอย่างไร องค์กรต้องการคนเก่งแบบไหน โดยการประเมินจากพนักงานที่มีอยู่แล้วในองค์กร เมื่อองค์กรสามารถระบุคนเก่งได้แล้ว กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นการวางนโยบายเพื่อให้คนเก่งเหล่านั้นดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้มากที่สุดเพื่อสร้างผลปฏิบัติการที่ดีให้แก่องค์กร การฝึกอบรมและพัฒนาคนเก่งเพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถ จริยธรรม สิ่งเหล่านี้คือ ขั้นตอนการเจียรไนเพชรที่สำคัญ เพื่อให้ได้คนเก่งที่มีคุณภาพ ในเชิงรูปธรรมในองค์กรจะต้องสร้าง “ต้นแบบ” ให้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจเพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน

การรักษาคนเก่งให้อยู่ในองค์กรสืบต่อไปก็เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อให้คนเก่งสามารถพัฒนาตนเองเติบโตภายในองค์กรด้วยความรัก ความภักดี ซื่อสัตย์ ทุ่มเท ทำงานให้กับองค์กรได้ยืนยาว การเติบโตทางตำแหน่งและได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนที่จะสามารถรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรอย่างมั่นคงและมีความภาคภูมิใจ

การบริหารให้คนเก่งสามารถคงอยู่ได้ในองค์กรจึงเป็นภารกิจที่ต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้าง พัฒนาและรักษา จากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง หากองค์กรนั้นได้รับคนเก่งเข้ามาทำงาน แต่ขาดการบริหารจัดการหรือดึงศักยภาพคนเก่งเหล่านั้นมาใช้ไม่เต็มที่ก็เปรียบเสมือนไก่ได้พลอย หรือที่เรียกกันว่า “เสียของ” ทั้งนี้นั้นการขับเคลื่อนองค์กรจึงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการบริหารจัดการพนักงานในองค์กรให้เก่งนั่นเอง