COLUMNISTS

หนี้ครัวเรือน การบ้านรมว.คลัง(ใหม่)

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1053

สภาวะขาขึ้นของหนี้ครัวเรือน เป็นประเด็นที่ถูกจับจ้องต่อเนื่องมาหลายปี ทุกรอบการสรุปตัวเลขเศรษฐกิจประจำไตรมาสของสำนักต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขหนี้ครัวเรือน ถูกนำมากล่าวเน้นอยู่เสมอๆ

ทศพร ศิริสัมพันธ์

สัปดาห์ที่แล้ว “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาแถลงว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากกลางปีที่แล้ว

เลขาฯ สศช.ให้ข้อมูลว่าไตรมาส 4 ปี 2561 ยอดหนี้ครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 % หรือ 78.6 % ต่อจีดีพี โดยสาเหตุหลักมาจาก ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของแบงก์พาณิชย์โตขึ้น 10.1 % ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากชาวบ้านเร่งก่อหนี้ ก่อนที่มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย(แอลทีวี) เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา

แม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึง 80 % ต่อจีดีพี ถือว่ารับได้ เลขาฯ สศช.ย้ำ เช่นเดียวกับ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่กล่าวกับสื่อว่า “หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นไม่น่ากังวล” เพราะการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ส่วนหนึ่งเป็นหนี้มีหลักประกัน และมาจากการก่อหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอี ที่นำมาใช้ในการทำธุรกิจ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่แล้ว

ธนวรรธน์ พลวิชัย2
ภาพจาก cebf.utcc.ac.th

มุมมองต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า จะเพิ่มหรือไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นประเด็นที่มีการโต้แย้งอยู่ในทีระหว่าง กระทรวงการคลัง กับ แบงก์ชาติ มาระยะหนึ่งแล้ว

ช่วงต้นปี “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยกประเด็น “หนี้ครัวเรือน” มากล่าวเชิงเตือนให้ระวังมาตลอด เรียกได้ว่ามีโอกาสเป็นนำเสมอ ความน่ากังวลของหนี้สาธารณะให้สังคมได้รับรู้รับทราบกัน เช่น อ้างผลการศึกษาเชิงลึกของแบงก์ชาติพบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น และมากขึ้น อายุมากขึ้นแต่หนี้ไม่ลด ที่สำคัญคือสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้น  หรือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยถือว่าสูงสุด หากเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา

ในมุมของแบงก์ชาติเชื่อว่า ต้นตอที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากจาก ครัวเรือนไม่รักษาวินัยการเงิน ทำนองว่าก่อหนี้เพื่อการบริโภคมากกว่าลงทุน ผู้ว่าแบงก์ชาติยังย้ำบ่อยๆ ด้วยว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นตัวถ่วงของระบบเศรษฐกิจ

ด้าน “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีคลัง ที่เคยออกมาโต้ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น “ไม่ได้มีปัญหา” เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไม่เยอะ ส่วนจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหรือไม่นั้นต้องพิจารณาว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้น หากเพิ่มขึ้นจากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย หรือ สิ่งของจำเป็น ถือว่าเป็นหนี้ครัวเรือนที่มีคุณภาพ

ap1
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

การมองต่างมุมและการตีความสถานการณ์หนี้ครัวที่ต่างกันระหว่างคลังกับแบงก์ชาติ น่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ ทิศทางการจัดการหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนจนส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง

เหลียวมองมาอีกด้าน หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามที่หลายสำนักออกมาแถลง นอกจากพฤติกรรมการจับจ่ายของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่แล้ว เป็นไปได้ว่า อีกสาเหตุมาจาก การก่อหนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่าหมุนไปหมุนมา ยอดหนี้จึงไม่ลด ซึ่งโยงไปถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวไม่มากพอที่จะเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านเหลือพอมาลดหนี้ และมีผลให้อีกหลายๆครัวเรือน หมุนเงินไม่ทัน ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะมีปัญหาใหม่ทับถมตามมาอีก

แม้ในทางเศรษฐศาสตร์ยืนยันว่า ตราบใดที่สัดส่วน หนี้ครัวเรือนยังไม่แตะระดับ 80 % ต่อจีดีพี ถือว่า “ยังไม่น่ากังวล” เหตุผลดังกล่าวเป็นการอ้างทางเทคนิคมากกว่า เพราะแนวโน้มที่ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ ถูกหั่นลดลงตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาต่อเนื่อง โอกาสที่สัดส่วนหนี้สาธารณะเวลานี้ ซึ่งถือปริ่มๆ (78.6% ต่อจีดีพี) จะขยับเข้าไปแต่โซนน่ากังวล (80% ต่อจีดีพี) มีโอกาสเกิดขึ้นทุกเมื่อ

หนี้ครัวเรือน เป็นโจทย์เศรษฐกิจที่รัฐบาลปัจจุบันส่งมอบไปยังรัฐบาลหน้า เป็นการบ้านให้ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ มาศึกษาและตัดสินใจว่าจะคลี่คลายหาทางจัดการกับ ตัวถ่วงทางเศรษฐกิจนี้อย่างไร แน่นอนไม่ใช่งานง่าย แต่ต้องทำ