Economics

‘รถร่วมฯ’ เตรียมร้องรัฐบาลใหม่ ขอลดสัดส่วนการซื้อ ‘รถเมล์ใหม่’ เหลือ 40%

“รถร่วมฯ” สู้เงื่อนไขการปรับขึ้นค่าโดยสารไม่ไหว เตรียมร้อง “รัฐบาลใหม่” ขอลดสัดส่วนการซื้อ “รถเมล์ใหม่” เหลือ 40% พร้อมเสนอยืดอายุคัสซีเป็น 50 ปีเท่าเดิม

รถเมล์4

แหล่งข่าวจากวงการรถโดยสารเอกสารร่วมบริการ (รถร่วมฯ) เปิดเผยว่า รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกลางแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกลางมีเงื่อนไขว่า รถร่วมฯ จะต้องจัดหารถเมล์ใหม่มาให้บริการ 70% ของฟลีตภายใน 2 ปี

แต่ล่าสุดทางกลุ่มรถร่วมฯ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการจัดหารถใหม่อย่างชัดเจน เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายอยู่ในสภาพขาดทุนหรือเสมอตัว จึงไม่มีเงินเพียงพอจะจัดหารถใหม่และสถาบันการเงินก็ไม่สนใจจะปล่อยสินเชื่อ เพราะธุรกิจอยู่ในขาลง สำหรับกลุ่มทุนที่เคยสนใจจะเข้ามาซื้อกิจการหรือร่วมทุนด้วย ขณะนี้ส่วนใหญ่ก็เงียบหาย กลุ่มทุนบางรายก็สนใจซื้อกิจการแค่บางส่วน ไม่เกิน 500 คัน จากจำนวนรถร่วมฯ ทั้งหมด 3,000 คัน

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานกำลังทยอยยกเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ส่งผลให้รถเมล์มีต้นทุนสูงขึ้นและมีแนวโน้มจะกลับไปขาดทุนเหมือนช่วงที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสาร โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาเอ็นจีวีปรับขึ้นไปแล้ว 1 บาทต่อกิโลเมตร, เดือนกันยายน 1 บาทต่อกิโลกรัม และเดือนธันวาคมอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม

รถเมล์ 1

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กลุ่มรถร่วมฯ จึงรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ขอให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกลางแก้ไขมติ โดยให้ลดสัดส่วนการจัดหารถเมล์ใหม่ลงจาก 70% เหลือ 40% ของฟลีต เนื่องจากผู้ประกอบการมีเงินทุนไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ขอให้รัฐบาลช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการด้วย โดยต้องการให้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) กันอย่างชัดเจน

สำหรับรถเมล์เก่า ซึ่งเดิมกำหนดให้มีอายุคัสซีได้ถึง 50 ปี แต่ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกลางลดอายุคัสซีให้ใช้ได้ไม่เกิน 25 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพราะปัจจุบันคัสซีของรถเมล์ในกรุงเทพฯ เกือบ 100% ล้วนมีอายุมากกว่า 25 ปี จึงต้องการเรียกร้องให้เปลี่ยนไปใช้ข้อกำหนดเดิมแทน

 

Avatar photo