Technology

มหันตภัย ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน เรียกร้องไทยใช้นโยบาย “zero tolerance”

บีเอสเอ เผยการใช้ซอฟต์แวร์ในไทย 60% ไม่มีไลเซ่นส์ จี้องค์กรธุรกิจใช้นโยบายต่อต้านซอฟต์แวร์เถื่อนเด็ดขาด ก่อนเสี่ยงสูญเสียเงินลงทุนและผลกำไรมหาศาล

นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้กว่า 60% ของการใช้ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เป็นซอฟต์แวร์ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ทำให้เกิดการจู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์ได้ง่ายและกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจ โดยพบว่าบริษัทขนาดใหญ่ต้องสูญเสียอย่างมหาศาล ขณะที่บริษัทขนาดเล็กและสตาร์ทอัพอาจจะปิดกิจการลงจากความเสียหายที่เกิดขึ้น

บีเอสเอ

บีเอสเอ ได้เรียกร้องให้ผู้นำองค์กรธุรกิจในประเทศไทยนำนโยบาย “zero tolerance” หรือการต่อต้านและยกเลิกการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจอย่างเด็ดขาด ซึ่งจากการใช้นโยบายดังกล่าว พบว่า องค์กรธุรกิจสามารถเพิ่มการป้องกันการละเมิดข้อมูลและอาชญากรรมไซเบอร์ ลดการสูญเสียทางการเงินและความเสี่ยงทางกฎหมาย ทั้งยังสามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่นักลงทุนอีกด้วย

นอกจากนี้ บีเอสเอยังได้จัดทำโครงการ “Legalize and Protect” โครงการเพื่อให้ความรู้แก่องค์กรธุรกิจทั้งในประเทศไทยและอาเซียนเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ และกระตุ้นองค์กรธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายและไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ซึ่งมีทั้งการสื่อสารการตลาดเพื่อสร้างรับรู้  และการร่วมมือโดยตรงกับรัฐบาลในแต่ละประเทศเพื่อให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญและผลที่ตามมา

ผลการศึกษาของ ไอดีซี ยังพบว่าองค์กรธุรกิจทั่วไปตระหนักถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้น โดย 11% ของกำไรที่เพิ่มขึ้น มาจากการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น องค์กรธุรกิจไทยจำนวนมากต้องติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย มิเช่นนั้น องค์กรธุรกิจเหล่านี้จะทำให้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของชาติเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูล สูญเสียประโยชน์ และตามมาด้วยความเสี่ยงทางกฎหมายในที่สุด

wannacry

ทั้งนี้ มัลแวร์ ถือว่าเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดของการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) สามารถใช้เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลบริษัท สอดส่องการทำงาน สร้างความเสียหายแก่ฟังก์ชั่นของอุปกรณ์ หรือการขโมยขุมพลังของระบบเพื่อประโยชน์ของผู้สร้างมัลแวร์ การโจมตีจากมัลแวร์เพียงครั้งเดียวมีค่าใช้จ่ายในการจัดการราว 320,000 บาท ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง และท้ายที่สุดบริษัทขนาดใหญ่จะเกิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 76.8 ล้านบาท ในความเป็นจริง 60% ของบริษัทขนาดเล็กต้องปิดตัวลงภายในหกเดือนหลังจากการโจมตีทางไซเบอร์

ด้าน พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ จิตต์สะอาด รองผู้กำกับการ4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ตำรวจบก.ปอศ. ได้เข้าตรวจค้นดำเนินคดีการใช้ซอฟต์แวร์ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจซึ่งพบมูลค่าความเสียหายกว่า 661 ล้านบาท หากซอฟต์แวร์ทั้งหมดมีการซื้อขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงพบคอมพิวเตอร์จำนวน 4,431 เครื่องถูกติดตั้งด้วยซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว

Avatar photo