General

‘ซีพีเอฟ’ ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน – เลิกใช้ถ่านหินปี 65

“ซีพีเอฟ” เดินหน้าบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่การผลิต  ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เตรียมเปิดโครงการ “CPF Coal Free 2022” ยกเลิกใช้ถ่านหินปี 2565 พร้อมขยายไปยังกิจการต่างประเทศ

นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านพลังงาน น้ำ ของเสีย และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นบริษัผลิตอาหารที่มีส่วนร่วมรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมโลก  สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)

ซีพีเอฟ1

นอกจากนี้  บริษัทเตรียมเปิดตัว โครงการ “CPF Coal Free 2022” มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกิจการในประเทศไทย ปี 2565 และขยายไปยังกิจการในต่างประเทศ โดยจะนำชีวมวลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนมาใช้ทดแทนถ่านหินในการผลิตไอน้ำ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

ทั้งนี้ ได้ประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ภายในปี 2563- 2568  ลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต 15% ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 30% ลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิต  35% และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต  25% ดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการซีพีเอฟโซลาร์รูฟท็อป (CPF Solar Rooftop)  เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาโรงงาน 34 แห่ง มีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2562 คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 21% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในปี 2560 เป็น 25% ในปี 2561 ดำเนินโครงการด้านการจัดการพลังงาน อาทิ โครงการนำก๊าซชีวภาพมาผลิตไฟฟ้า เมื่อปี 2561 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 322,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการนวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม ดำเนินการในไทยและขยายผลไปยังธุรกิจผลิตอาหารสุกรในอีก 7 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน และรัสเซีย สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 41,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

ซีพีเอฟ3

บริษัทยังให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยพัฒนาการออกแบบและจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัท มีเป้าหมายระยะยาวด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกในไทยต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100% ในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศ ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2573

บริษัทได้จัดหาบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ ที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรงหรือใช้สำหรับการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตตั้งแต่ 70-100% ขณะที่สินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็นบรรจุในถาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ หรือ โพลีแลคติค แอซิส (Polylactic Acid : PLA) นับเป็นรายแรกของไทย โดยปี 2561 สามารถลดการใช้ถาด PET ได้กว่า 3.9 ล้านชิ้น หรือกว่า 60 ตัน เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 132 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

ซีพีเอฟ2

ด้านของกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทสนับสนุนพนักงานร่วมเป็นเครือข่ายจิตอาสาอนุรักษ์ และร่วมฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในและรอบรั้วโรงงานและฟาร์ม โดยในปี 2561 ร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ทั้งพื้นที่ป่าชายเลนและป่าต้นน้ำ  เพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการครอบคลุมพื้นที่ 10,079 ไร่ อาทิ การดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง บริษัทจับมือกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และชุมชน ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ ตำบลพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี 5,971 ไร่ ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ 38,108 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight