Economics

ไม่เลื่อน! เปิดให้ทดลองใช้รถไฟฟ้า ‘หัวลำโพง-บางแค’ 12 ส.ค.นี้

“ไพรินทร์” ลั่นเปิดให้ประชาชนทดลองใช้รถไฟฟ้า “หัวลำโพง-บางแค” ตั้งแต่ 12 ส.ค. นี้  “รฟม.” คาดประกาศตารางเดินรถได้ปลายเดือน ก.ค. โดยระยะแรก ต้องเปลี่ยนขบวนที่สถานีหัวลำโพงก่อน

222007

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเดินทางไปตรวจราชการและติดตามความคืบหน้าในการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (ส่วนต่อขยาย) ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ณ  สถานีสนามไชย วันนี้ (5 พ.ค.) ว่า ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง

ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รฟม. ดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E Work) ไปกว่า 80.63% แบ่งเป็นความคืบหน้างานระบบรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง – บางแค 89.73% และช่วงเตาปูน – ท่าพระ 68.69%

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตได้ขนส่งรถไฟฟ้าขบวนใหม่มาถึงประเทศไทยในสัปดาห์นี้จำนวน 4 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ และจะทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มเป็น 10 ขบวน, ในเดือนกันยายน 2562 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มเป็น 16 ขบวน และในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จะมีขบวนรถไฟฟ้ามาเพิ่มจนครบทั้งหมด 35 ขบวน

S 83410963

สำหรับรถไฟฟ้า MRT ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 16 กิโลเมตร มีแผนจะเริ่มทดสอบระบบรวม (System Integration Test : SIT) ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2562 จากนั้นจะเริ่มทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) โดยเปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมการทดสอบด้วยตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2562 และจะประกาศวันเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบต่อไป ซึ่งตามสัญญาจะต้องเปิดบริการเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2562

“วันนี้ก็ได้มาตรวจดูเพื่อให้ความมั่นใจกับท่านผู้โดยสารว่า เราจะเปิดทดลองเดินรถในวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสำคัญและเป็นวันพิเศษสำหรับพวกเราชาวไทย วันนี้ที่เรารอคอยมาหลายปีว่า รถไฟจะวิ่งต่อจากหัวลำโพง ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปบางแคเมื่อไหร่ ก็จะเห็นกัน” นายไพรินทร์กล่าว

สำหรับการเปิดให้บริการช่วงเตาปูน – ท่าพระ ระยะทาง 11 กิโลเมตรนั้น คาดว่าจะเริ่มทำการทดสอบระบบรวมประมาณเดือนกันยายน – ธันวาคม 2562 และเริ่มการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยมีกำหนดจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมีนาคม 2563

“ปัจจุบันสายสีน้ำเงินมี 19 สถานี เมื่อรวมส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงก็จะมีความยาว 48 กิโลเมตรและ 38 สถานี ก็ถือว่าเป็นการขยายครั้งใหญ่ของสายสีน้ำเงิน ผมเชื่อว่าสายสีน้ำเงินนี้จะเป็นรถไฟใต้ดินที่มีความสำคัญมาก ด้วยเหตุที่มันวิ่งเป็นวงกลม จะช่วยลดความแออัดในช่วงเช้าๆ เย็นๆ ที่สถานีสยามสแควร์และสถานีสุขุมวิท เพราะผู้โดยสารมีทางเลือก โดยเมื่อสายสีน้ำเงินเปิดเดินรถ ผู้โดยสารของสายสีม่วงก็จะเพิ่มขึ้นด้วย” นายไพรินทร์กล่าว

S 83410946

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ จะมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ (Circle Line) ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสาร และเรือโดยสาร เพื่อช่วยลดความแออัดของการจราจรบนถนนสายสำคัญๆ ในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี

เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายแล้ว อัตราค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะยังอยู่ที่ 42 บาทต่อเที่ยวเท่าเดิม ด้านการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ยังคงอัตราค่าโดยสารสูงสุด 70 บาทต่อเที่ยวเท่าเดิมเช่นกัน

S 83410959

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน มีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 3.5-3.6 แสนคนต่อวัน ถ้าหากเปิดให้บริการส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง จะส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 แสนคนต่อวันในช่วงกลางปี 2563

สำหรับการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน ในวันที่ 12 สิงหาคมนั้น นายภคพงศ์กล่าวว่า รฟม. จะประกาศตารางทดลองเดินรถให้ประชาชนรับทราบประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2562

ในช่วงทดลองเดินรถ รถไฟฟ้าจะให้บริการด้วยความถี่น้อยกว่าปกติและให้บริการแบบไป-กลับระหว่างสถานีหัวลำโพง-บางแคเท่านั้น ถ้าผู้โดยสารต้องการเดินทางต่อในช่วงหัวโพง-เตาปูน ก็ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีหัวลำโพง โดยเมื่อทดสอบเดินรถจนมั่นใจแล้ว ก็จะเปิดเดินรถตลอดเส้นทาง โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนต่อไป

 

S 83410961

S 83410964

S 83410960

S 83410952

S 83410950

S 83410949

S 83410954

S 83410953

S 83410958

S 83410966

 

Avatar photo