COLUMNISTS

‘พรรคใหม่-พรรคเก่า’ ใครได้ไปต่ออยู่ที่ ‘ประชาชน’

Avatar photo
25

เคยเขียนบทความตั้งแต่ช่วงต้นปีว่ามี 8 ประเด็นที่ต้องจับตา ซึ่งนอกจากเรื่องราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะแพงขึ้น เหมือนที่ได้เขียนถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีประเด็นการจัดตั้งพรรคการเมืองของการเมืองกลุ่มใหม่ๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นมา

จนถึงขณะนี้มีกลุ่มการเมืองจดแจ้งชื่อพรรคการเมืองแล้วกว่า 100 กลุ่ม มี 2 กลุ่มการเมืองที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อที่ขอจดแจ้งคือ พรรคเห็นแก่ตัว ของนายกริช ตรรกบุตร และพรรคเกรียน ของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงชื่อ

นอกจากนี้ มีกลุ่มการเมืองที่ได้รับการรับรองการจดแจ้งชื่อแล้ว เข้ายื่นขอจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองรวม 7 พรรค โดยอยู่ระหว่างรอการรับการรับรองจากนายทะเบียนพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองเต็มรูปแบบ

ส่วนพรรคการเมืองเก่าก็ได้ยอดสมาชิกที่มายืนยันตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ส่งให้กกต.ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม โดยมี 54 พรรคที่มีสมาชิกไปยืนยัน รวมสมาชิกทุกพรรค 137,479 คน จากจำนวนตามฐานเดิม 4,745,695 คน เท่ากับในภาพรวมพรรคการเมืองได้สมาชิกคืนมาแค่ร้อยละ 2.9 เท่านั้น

politic1

พรรคการเมืองที่มีบทบาททางการเมือง มีจำนวนสมาชิกลดลง ดังนี้

  • พรรคประชาธิปัตย์ เหลือสมาชิก 97,755 คนจาก 2,895,747 คน
  • พรรคเพื่อไทย เหลือสมาชิก 9,705 คน จาก 134,748 คน
  • พรรคภูมิใจไทย เหลือสมาชิก 934 คน จาก 15,3071 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา เหลือสมาชิก 2,886 คน จาก 26,022 คน
  • พรรคชาติพัฒนา เหลือสมาชิก 5,583 คนจาก 19,563 คน
  • พรรคพลังชล เหลือสมาชิก 3,391 คน จาก 10,806 คน

เพราะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 ไม่อนุญาต หลังจากนี้พรรคการเมืองเก่ายังไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองใด ๆ ได้ แตกต่างจากพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่สามารถหาสมาชิกได้อย่างเสรี ในขณะที่พรรคการเมืองเก่านอกจากจะเสียสมาชิกไปจำนวนมากแล้วยังไม่สามารถหาสมาชิกใหม่เพิ่มได้ด้วย นี่คือความได้เปรียบ เสียเปรียบ ที่เกิดขึ้นจากกติกาของ คสช.

เส้นทางการเมืองต่อจากนี้ มีพรรคการเมืองใหม่ที่ถูกจับตา นอกจากพรรคของคสช.ที่ยังไม่เปิดตัวแน่ชัดแล้ว ก็มีสองพรรคการเมืองที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในความสนใจของสังคม คือ พรรคอนาคตใหม่ กับ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

ทั้งสองพรรคนี้ดูเหมือนจะมีนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกันชัดเจนอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ พรรคอนาคตใหม่ จะล้มรัฐธรรมนูญ 60 แล้วร่างใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงนิรโทษกรรมคดีการเมืองยุคคสช.ทั้งหมด ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะรักษารัฐธรรมนูญปี 60 เนื่องจากผ่านการลงประมติ และไม่นิรโทษกรรมคดีการเมืองไม่ว่าจะเป็นยุคใด ให้ทุกคดีพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

หากนำเฉพาะนโยบายการเมืองสองข้อข้างต้นมาจับขั้วการเมืองกับพรรคการเมืองเก่าจะพบความจริงที่น่าสนใจว่า

จุดยืนของพรรคเพื่อไทยสอดรับกับพรรคอนาคตใหม่ทั้งสองเรื่อง เพียงแต่อาจจะไปไกลกว่าตรงที่ต้องการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยไปจนถึงให้ทักษิณพ้นผิดด้วย

ในขณะที่จุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ตรงกับทั้งพรรคอนาคตใหม่ และพรรครวมพลังประชาชาติไทยในบางเรื่อง แตกต่างในบางประเด็น คือ ประชาธิปัตย์อยู่ตรงกลางระหว่างพรรคอนาคตใหม่ กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  คือ ไม่หลับหูหลับตากอดรัฐธรรมนูญปี 60 ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาหลายประการจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกันก็ไม่สุดโต่งคิดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเหมือนที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศออกมา

พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ควรต้องแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อเป็นพลังทางสังคมผลักดันให้ สว.ต้องยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องให้สว.หนึ่งในสามและฝ่ายค้าน 10 % ให้ความเห็นชอบ รวมทั้งให้ไปทำประชามติก่อนลงมติวาระสามด้วย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประกาศฉีกทิ้งแล้วร่างใหม่โดยไม่คำนึงถึงการปฏิบัติในโลกของความเป็นจริง

ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนมาหลายครั้ง และไม่เคยเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้คือ การให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนที่ทำผิดในเรื่องการเมือง เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เกี่ยวกับแกนนำ คนสั่งการ และคนที่ก่ออาชญากรรม ซึ่งก็ตรงกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ส่วนคดีการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในยุคคสช.นั้น หัวหน้าอภิสิทธิ์ ได้เคยเตือน คสช.หลายครั้งว่า ควรมีการผ่อนปรนให้เวทีทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นโดยเสรีแทนที่จะใช้กฎหมายพิเศษมาปิดกั้น เพราะจะทำให้เกิดปมขัดแย้งใหม่ในภายหลัง

ดังนั้นจุดยืนเกี่ยวกับคดีการเมืองที่เพิ่งเกิดในยุค คสช.ในกรณีที่ไม่มีการก่ออาชญากรรมเข้ามาเกี่ยวข้องจึงไม่ต่างจากพรรคอนาคตใหม่

นี่คือการเปรียบเทียบให้เห็นเฉพาะแนวทางด้านการเมืองระหว่างพรรคการเมืองสี่พรรค คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย อนาคตใหม่ และ รวมพลังประชาชาติไทย จะเห็นได้ว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่มีจุดยืนแบบไม่สุดโต่ง แต่กำหนดทิศทางของพรรคเพื่อขับเคลื่อนประเทศบนหลักเหตุผล และความถูกต้อง

ส่วนพรรคการเมืองไหนจะได้ไปต่อก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน