World News

เวิลด์แบงก์หั่นคาดการณ์ศก.โลกปี 62 เหตุการค้าลดน้อยลง

ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอีก 0.3% มาอยู่ที่ 2.6% ต่ำกว่าระดับการขยายตัว 3.0% เมื่อปีที่แล้ว ตอกย้ำให้เห็นถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่เกาะติดเศรษฐกิจโลก บั่นทอนความเชื่อมั่น และยิ่งทำให้การลงทุนหดหาย

9781464813986.pdf

แม้ธนาคารโลกจะยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 และ 2564 แต่ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รอบครึ่งปีนี้ ธนาคารโลกเตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีปัจจัยที่เหมาะสมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ความเสี่ยงอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ คือความขัดแย้งทางการระหว่างประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ที่รุนแรงมากขึ้น

“แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทั้งในระยะใกล้ และระยะยาว ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม” นายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลกคนใหม่ ระบุ และว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่เปราะบาง และการเติบโตที่ชะลอตัวลงนี้ จะกลายเป็นอุปสรรคขวางความก้าวหน้าในการต่อสู้กับความยากจนทั่วโลก

ทางด้านนายไอฮาน โคเซ นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ผู้รับผิดชอบจัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า ปัจจัยหลักในขณะนี้คือเศรษฐกิจโลกกำลังเดินมาถึงจุดตัด ซึ่งจำเป็นต้องหาทางที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับการเติบโต

“ผมคิดว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่กำลังเพิ่มความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งที่อาจสร้างแรงกดดันที่แท้จริงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก”

ธนาคารโลกคาดการณ์ด้วยว่า ปริมาณการค้าโลกจะดิ่งลงอย่างหนัก ขยายตัวเพียง 2.6% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตช้าสุด นับแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก และลดลงต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาถึง 1%

สำหรับในเอเชียตะวันออก และแปซิฟิคนั้น มีแนวโน้มว่าผลผลิตเศรษฐกิจโดยรวมจะร่วงลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 6% เป็นครั้งแรกนับแต่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

trade

ธนาคารโลกปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยคาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ในระดับ 6.2% แต่คงการประเมินเศรษฐกิจสหรัฐไว้เท่าเดิม ที่ราว 2.5% ในปีนี้ ก่อนอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 1.7% ในปี 2563

รายงานฉบับนี้ ไม่ได้นำปัจจัยล่าสุดที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 5% ต่อสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกทั้งหมด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้

นายโคเซ แสดงความเห็นด้วยว่า แม้ในขณะนี้จะยังไม่เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก แต่ถ้าความตึงเครียดรุนแรงขึ้น โลกอาจเกิดความปั่นป่วนขึ้น และเศรษฐกิจซบเซาลงไปหนักกว่านี้อย่างมาก

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ยังเน้นถึงความกังวลในเรื่องหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยชี้ว่า นับแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ปริมาณหนี้ของแต่ละประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และกำลังพัฒนา เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15% ซึ่งประเทศเหล่านี้จะต้องใช้ความรอบคอบอย่างสูงสุด  อย่าปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำในปัจจุบันเป็นแรงจูงใจทำให้เกิดการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น และควรหันไปเน้นเรื่องปฏิรูป ที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนให้มากกว่านี้

“ถ้าหากว่าคุณสะสมหนี้ ก็จะยิ่งทำให้คุณมีความเปราะบางต่อวิกฤติมากขึ้น เพราะหนี้จะเป็นตัวจำกัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวด้านนโยบาย และคุณไม่มีทางรู้เลยว่า ดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเมื่อใด”

Avatar photo