POLITICS-GENERAL

7 กลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี พบ 5 เดือนผู้ป่วย 1.6 แสนคน กทม.สูงสุด

ประกาศ ! 7 กลุ่มเสี่ยงรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี หน่วยงานรัฐเตรียม 4 ล้านโด๊สรองรับประชาชน ใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลที่เข้าโครงการ และหน่วยบริการสาธารณสุข หลังพบ 5 เดือนมีผู้ป่วยแล้ว 1.6 แสนราย เสียชีวิต 11 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพ อัตราป่วย 810.07 ต่อประชากรแสนคน

7กลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่

ไลน์ทางการ “ไทยคู่ฟ้า” ออกประกาศให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี  ประกอบด้วย

1.หญิงตั้งครรภ์

2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4.ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

6.ผู้ป่วยธาลัสซีมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ

7.ผู้ที่มีโรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

โดยทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยงครอบคลุมผู้ที่อยู่ในระบบการรักษาพยาบาลทุกสิทธิ ทั้งสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง)

กำหนดรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 สิงหาคม 2562 ที่โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาลที่เข้าโครงการ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไว้รองรับ 4 ล้านโด๊ส

สำหรับในภาพรวมสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ในปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 พฤษภาคม 2562 สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค รายงาน ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ จํานวน 162,826 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 246.48 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 11 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 0.01% จํานวนผู้ป่วยสะสมในภาพรวม พบว่าสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าปีที่ผ่านมา

จําแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี มีอัตราป่วยสูงสุด คือ 973.10 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 0 – 4 ปี มีอัตราป่วย 918.03 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มอายุ 10 – 14 ปี มีอัตราป่วย 504.74 ต่อประชากรแสนคน ตามลําดับ จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ป่วย ที่มีอัตราป่วยสูงจะอยู่ในช่วงวัยเด็ก กระทรวงสาธารณสุข จึงให้ความสําคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มวัยเรียนและเด็ก และในสถานที่ที่มีการรวมตัวกัน ของคนหมู่มากมากขึ้น

woman 698988 640

สำหรับการกระจายของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่รายภาค พบว่า ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง อัตราป่วย 525.78 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภาคเหนือ อัตราป่วย 293.24 ต่อประชากรแสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 135.80 ต่อประชากรแสนคน และน้อยที่สุด คือ ภาคใต้ อัตราป่วย 88.86 ต่อประชากรแสนคน ตามลําดับ นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยเสียชีวิต จํานวนรวมทั้งหมด 11 ราย

การกระจายของการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่รายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ

1.กรุงเทพ อัตราป่วย 810.07 ต่อประชากรแสนคน

2. ระยอง อัตราป่วย 716.74 ต่อประชากรแสนคน

3.เชียงใหม่ อัตรา ป่วย 694.36 ต่อประชากรแสนคน

4.นครปฐม อัตราป่วย 525.55 ต่อประชากรแสนคน

5.นครราชสีมา อัตราป่วย 453.65 ต่อประชากรแสนคน ตามลําดับ

เมื่อจําแนกผู้ป่วยตามเขตบริการสุขภาพ และกรุงเทพ พบว่า กรุงเทพ มีอัตรา ป่วยสูงสุด คือ 810.07 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ เขตบริการสุขภาพที่ 1 คือ 389.47 ต่อประชากรแสนคน และ เขตบริการสุขภาพที่ 6 มีอัตราป่วย 321.14 ต่อประชากรแสนคน ตามลําดับ

ส่วนภาพรวมเหตุการณ์พบผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 พฤษภาคม 2562 พบ 91 เหตุการณ์ ใน 44 จังหวัด โดยพบใน โรงเรียน 26 เหตุการณ์ เรือนจํา 27 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 7 เหตุการณ์ โรงพยาบาล 4 เหตุการณ์ ค่ายฝึกตํารวจ 2 เหตุการณ์ ศูนย์ฝ์กอบรม 2 เหตุการณ์ สถานพินิจฯ แคมป์คนงาน โรงงาน วัด และค่ายบําบัดยาเสพติด สถานที่ละ 1 เหตุการณ์ ที่ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก

ปลัด สธ.
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอาการไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้ช่วยกันสังเกต และป้องกัน ว่าเกิดจากเชื้อไวรัส มีหลายสายพันธุ์ โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือ เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อผ่านการไอ จาม หรือติดมากับมือ อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้สูง ตัวร้อน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอ

กลุ่มเสี่ยงหากสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ควรพบแพทย์ทันที ผู้ป่วยทั่วไปหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรืออาการรุนแรงขึ้น เหนื่อยมาก ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดอาการรุนแรง และการเสียชีวิตได้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Avatar photo