POLITICS-GENERAL

‘ Live Learn Play ‘ เรียนสอนมิติใหม่ ปรับก่อนต้องปิดสถาบัน

ภาพสะท้อนจากการประชุมอธิการบดี 50 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จาก 17 ประเทศ ชุมชนเครือข่ายมหาวิทยาลัยภายใต้สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก ( Association of Pacific Rim Universites : APRU ) ที่มีการประชุม “ APRU President ‘s meeting 2018 ครั้งที่ 22 ” เมื่อกลางปี 2561 อธิการบดี และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยต่างๆได้อภิปรายร่วมกันในประเด็นความเชื่อมั่นของสาธารณชน และบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของมหาวิทยาลัย ตลอดจนอนาคตดิจิทัลของมหาวิทยาลัย

IMG 20190426 115319
ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย

รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดีด้านการพัฒนางานใหม่ และงานนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ในการประชุม APRU ทำให้เราพบข้อมูลที่สำคัญ ว่า เมื่อไม่นานมานี้มหาวิทยาลัยทั่วโลกมีวิกฤติไม่ต่างกัน แม้แต่สหรัฐที่พบว่า ได้รับความเชื่อมั่นลดลง เนื่องจากมหาวิทยาลัยถูกมองเป็น “หอคอยงาช้าง” ที่เมินเฉยต่อประเด็นปัญหาสังคม ในสหราชอาณาจักรก็เช่นเดียวกัน การควบคุมมหาวิทยาลัยแบบรวมอำนาจ (centralized control) และการมุ่งเชิงพาณิชย์มากขึ้นของอุดมศึกษา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของมหาวิทยาลัยลดลง และเกิดความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของมหาวิทยาลัยตามมา

APRU ระบุว่า มหาวิทยาลัยยุคใหม่จะต้องมีบทบาท 6 ประการ ประกอบด้วย

1.แสดงบทบาทในการเป็นผู้สร้างนวัตกร (creating innovators)

2.เป็นกลไกประสานเชื่อมโยง 4 ฝ่าย คือ ภาควิชาการ รัฐ เอกชน และประชาสังคม (connectors)

3.เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (agent of change)

4.ให้การศึกษาเพื่อสร้างผู้นำยุคใหม่

5.สร้างองค์ความรู้ ( knowledge creator )

6.นำงานวิจัยมาใช้แก้ปัญหาสังคม (societal problem-solver)

นั่นหมายถึงมหาวิทยาลัยต้องเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” โดยมี 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ที่มหาวิทยาลัยต่างๆจะต้องทำรวมถึงจุฬาฯประกอบด้วย

1.จัดการศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมบัณฑิตสำหรับอนาคต มีทักษะที่สอดคล้อง และเชื่อมโยงการวิจัย และนวัตกรรมที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม

2. มีส่วนร่วม และเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้เสียในชุมชน และสังคมภายนอก ผ่านกิจกรรม เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาออกสู่ชุมชนและสาธารณชนในวงกว้าง เช่น การจัดการศึกษาผ่าน MOOCs ( Massive Open Online Course )

3. ต้องมีการสื่อสาร ถึงสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ และวิธีการที่จะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมภายนอก

“การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทำให้เกิดความต้องการทักษะ และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือกับปรากฎการณ์ที่มนุษย์ และเครื่องมือต่างๆเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลา การใช้ปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning ที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ”

การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม และความเป็นผู้ประกอบการ ( Innovation and Entrepreneurship ecosystem) เป็นอีกความท้าทายของมหาวิทยาลัยวิจัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายระหว่าง มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ รัฐบาล และภาคเอกชน ในการแบ่งปันการใช้ทรัพยากร การสร้างนวัตกรรม และการถ่ายโอนเทคโนโลยี

IMG 20190426 142511

ระบบนิเวศนวัตกรรมจะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ ( Experiential Learning )รวมถึงเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน ( Project-based Learning ) เราต้องสร้างบรรยากาศให้มีทั้ง “Live Learn Play “

รศ.ดร.ณัฐชา ย้ำว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM นั้น อาจไม่เพียงพอ สำหรับรองรับความต้องการภายในระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การวิจัยแบบข้ามศาสตร์ ( Cross-disciplinary ) และสหศาสตร์ (Interdisciplinary) ที่รวมการวิจัยทาง STEM กับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ หรือ SSH ศิลปะศาสตร์และออกแบบ รวมถึงสาขาอื่นๆนอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนผ่านมุมมองที่หลากหลาย และวิเคราะห์ข้ามวัฒนธรรม รับมือกับผลกระทบจากนวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญในเวลานี้

ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องปรับจากผู้ให้ความรู้ สู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้คำปรึกษา สร้างแรงบันดาลใจ และผู้จัดการรายวิชา โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอำนวยความสะดวกในการวิจัย และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และต้องก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ เป็นกลไกในการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษา และคณาจารย์ รวมทั้งมีส่วนร่วมในชุมชมการวิจัยระดับนานาชาติ

IMG 20190426 125347

รศ.ดร.ณัฐชา ย้อนกลับมามองในจุฬาฯ า ปัจจุบันจุฬาฯยังไม่เผชิญกับวิกฤตินักศึกษา มาเข้าเรียนลดลงเหมือนกับสถาบันอื่นๆ แต่ตระหนักดีว่า เราอยุ่เฉยๆไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลง จึงปรับไปสู่มหาวิทยาลัยยุคใหม่ โดยสิ่งที่เราเปลี่ยนมี 2 ส่วนสำคัญ คือ

1.ครู ต้องมาจากองค์กรภายนอก และต้องเปลี่ยนมิติการเรียนการสอน

2.การวิจัยเพื่อขึ้นหิ้ง ต้องเลิก ปรับมาเป็นการนำประเด็นทางสังคมมาเป็นโจทย์ตั้งต้นของวิจัย เพื่อหาทางแก้ปัญหา เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5

ดังนั้นหน้าที่ของจุฬาฯต้องสร้างนวัตกรให้ได้ กระตุ้นให้นิสิตวิจัย เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ไม่ให้งานวิจัยเขาเป็นเพียง “สิ่งประดิษฐ์” แต่ต้องเป็น “นวัตกรรม “ นั่นหมายถึงมีประโยชน์ เอาไปใช้ได้  และปรับบทบาทให้สอดคล้องกับแนวทางของ APRU ทั้ง 6 ประการ

เมื่อเราปักธงที่จะไปในทิศทางนี้แล้ว ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จึงมีนโยบายชัดเจนให้การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรม โดยสร้างในระดับคณะขึ้นก่อนที่ วิศวกรรมศาสตร์ เป็น ศูนย์กลางนวัตกรรมด้านวิศวกรรม (CU Engineering Innovation Hub ) อย่างตอนนี้ 5G ก็กำลังถูกทดสอบที่นั่น

และนำมาสู่  “ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ หรือ CU INNOVATION HUB “ เมื่อปี 2559 ที่อาคารจามจุรี 10 ภายในจุฬาฯ เพื่อผลักดัน และสนับสนุนงานนวัตกรรม ให้พื้นที่ตรงนี้เป็น Sandbox ” หรือหลุมทราย หรือพื้นที่เรียนรู้ ลองผิดลองถูก ก่อนที่จะก้าวออกไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์  ให้ “เจ๊งก่อนจบ ”

BASCII 1

กลไกของเรา คือ สร้างหลักสูตรการเรียนการสอน BAScii (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation) เมื่อปี 2561 เป็นโปรแกรมนานาชาติ เปลี่ยนมิติการเรียนการสอนให้เด็กๆระดับปริญญาตรี “อยากเรียนอะไรก็ได้เรียน ” เน้นงานวิจัยในหัวข้อที่มีผลต่อสังคม และผลกระทบต่อประเทศ

โดยเราปลูกฝังให้เด็ก “เข้าใจลูกค้า เข้าใจอุตสาหกรรม และเข้าใจสังคม ” เป้าหมาย เพื่อพัฒนานักวิจัยที่มีความคิดเป็นผู้ประกอบการ ให้ทั้ง “ คิดเป็น ทำเป็น และสื่อสารได้ “  โดยจับมือกับหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนในมิติใหม่ ที่มีผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก เป็นการเรียนสอนแห่งศตวรรษที่ 21

“ หลายคนรวมถึงศิษย์เก่ามาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะเด็กระดับมัธยมที่ผ่านการเรียนการสอนที่ประยุกต์แล้ว ไม่มีที่เรียนต่อที่สอดคล้องกันในระดับอุดมศึกษา และหนีออกไปเรียนต่างประเทศกันหมด  “

ผลปรากฎว่าได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากเด็กๆ เพราะเป็นการเรียนการสอนมิติใหม่ สอดรับกับความต้องการของเด็กยุคใหม่ที่ต้องการเรียนสิ่งที่เขาสามารถนำไปใช้ได้เลย เรียนในลักษณะทำโครงงานวิจัยที่ต้องการ เป็นต้น เพราะเขาก็ต้องการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเราก็ช่วยผลักดันให้เขาหาทุนสนับสนุน เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ด้วย และเรายังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหลากหลายให้คนภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้ในหลักสูตรต่างๆด้วยภายใน CU INNOVATION HUB “

IMG 20190426 125611

รศ.ดร.ณัฐชา บอกว่า จุฬาฯตั้งเป้าหมายที่ท้าทายสถาบัน คือ เราจะสร้างมูลค่าธุรกิจ และการตลาดให้ได้ 10,000 ล้านบาท และให้คนไทย 1 ล้านคนได้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เราส่งเสริม และสนับสนุนภายในสิ้นปีนี้ ตอนแรกหลายคนส่ายหัว คิดว่าท้าทายเกินไป แต่ตอนนี้พอร์ตจากเหล่านวัตกร ที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมของเรากว่า 100 ราย มีมูลค่าการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว

จุฬาฯไม่ได้หยุดแค่การเรียนการสอนภายในเท่านั้น ในปี 2561 ได้ขยับออกสู่สังคมภายนอก เป็นแกนหลักในการพัฒนา “ เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม” หรือ Siam Innovation District “ (SID ) ครอบคลุมพื้นที่ 3 ส่วนหลัก คือ จุฬาฯ สยามสแควร์ และสวนหลวง-สามย่าน ให้เป็นพื้นที่แห่งนวัตกรรม เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบของประเทศ

มี 4 พันธกิจรองรับ

1.สร้างงานวิจัยที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และการนำงานวิจัยไปต่อยอดทางธุรกิจ

2.ให้สยามสแควร์เป็นตลาดนัดนวัตกรรม เป็นจุดนัดพบของคนที่มีความสามารถในการคิด กับคนที่มีความสามารถในการทำ และมาจับคู่กัน (talent matchmaking)

3.เป็นชุมชนนวัตกรรมแห่งอนาคต ( Futurium )  เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่นที่มี “มิไรกัง” (Mirakan National Museum of Emerging Science and Innovation ) ที่ทำให้ญี่ปุ่นมองเห็นอนาคตของประเทศ และของโลก ซึ่งจะมีทั้งการสร้างเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (showcase of smart city ) นิทรรศการหมุนเวียนแสดงนวัตกรรมล้ำสมัย และนิทรรศการถาวรด้านนวัตกรรม ตั้งอยู่ภายในอาคารสยามสแควร์วัน ที่มีทั้งหมด 4 ชั้น

4.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Talent Building ) ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เช่น การบรรยาย อบรมเชิงปฏิบัติการ บ่มเพาะผู้ประกอบการ เป็นต้น

หลังจากที่เราเปิดโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID เพื่อให้ทุนสำหรับพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่มีศักยภาพ และมีผลกระทบต่อสังคมไทย มี 40 โครงการได้รับการเลือกจากผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ เช่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เทคโนโลยคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังด้วยโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชั่นติดตาม และนำทางรถโดยยสารแบบเรียลไทม์ เป็นต้น เหล่านี้จะถูกพัฒนาจากต้นแบบ  (prototype) ให้เป็นธุรกิจได้จริง จากที่เคยขายอยู่ในประเทศไทยออกไปขายต่างประเทศ

“ทำยังไงก็ได้ให้สตาร์ทอัพของไทย ที่เราปลุกปั้นขึ้นมานั้นเติบโตได้ เราต้องสนับสนุนทุกทาง บางธุรกิจเขาอาจจะไม่ 100%  หรือราคาอาจสูง แต่ต้องเปิดโอกาส สร้างเวทีให้เขาได้มีบทบาท  เช่น อุดหนุน ใช้งาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เขาได้ก้าวเดิน และพัฒนาต่อๆไป ”  

IMG 20190426 134945

 

 

 

Avatar photo