World News

‘ตลาดสุขภาพ’ เวียดนาม-กัมพูชามาแรง ต่างชาติแห่ลงทุน

กระแสออกกำลังกายในกัมพูชา และเวียดนาม กำลังดึงดูดให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาสร้างรายได้ ท่ามกลางความต้องการผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น

gunz
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ gunze sports cambodia

ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาชื่อดังของญี่ปุ่น “มิซูโน” และคู่แข่งสัญชาติเดียวกันซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าอย่าง “กุนเซ สปอร์ตส์” ต่างเข้ามาทำธุรกิจในทั้ง 2 ประเทศ ที่มีอัตราการขยายตัวของภาคสุขภาพ ปีละมากกว่า 50% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจฟิตเนส

กุนเซให้บริการสถานออกกำลังกาย 2 แห่งในกัมพูชา ซึ่งยูโรมอนิเตอร์ บริษัทวิจัยอังกฤษ ประเมินว่า ตลาดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพในประเทศนี้ มีแนวโน้มจะขยายตัวมากกว่า 60% มาอยู่ในระดับมากกว่า 460 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2566

แม้จะแทบไม่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น บ้านเกิด แต่กุนเซก็ตัดสินเข้ามาเปิดสถานออกกำลังกายในต่างประเทศแห่งแรกของบริษัท ในย่านที่อยู่อาศัยของผู้มีฐานะดีในกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2560 ในความพยายามที่จะนำหน้าคู่แข่งต่างประเทศ และเพิ่งเปิดตัวสถานออกกำลังกายแห่งที่ 2 ไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี กุนเซยังไม่ได้เป็นบริการที่คนทุกระดับจับต้องได้ โดยเมื่อเทียบกับการใช้เครื่องออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ที่มีค่าใช้จ่ายตกวันละประมาณ 1 ดอลลาร์นั้น ค่าสมาชิกของกุนเซตกประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อเดือน อันเป็นอัตราเดียวกับการจัดเก็บในญี่ปุ่น ซึ่งเหมาะสำหรับกลุ่มชั้นกลาง และชั้นสูงขึ้นไป

กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีลูกค้าที่ให้ความสนใจในด้านสุขภาพในเมืองหลวงของกัมพูชา ที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมที่สูงลิบลิ่วนี้

“ฉันมาที่นี่ทุกวัน เพื่อทำให้ร่างกายสดชื่น” โคธ์ เนียไรลีวัน ผู้รับเหมาก่อสร้างวัย 56 ปีกล่าว ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เธอไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก เพราะในปัจจุบันมีสถานออกกำลังเพียงไม่กี่แห่งที่มีบริการครบครันแบบกุนเซ อาทิ สระว่ายน้ำ และห้องออกกำลังกายต่างๆ

16112584 1203710719750178 1967663947178609604 o
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ gunze sports cambodia

แต่อีกไม่นาน กุนเซอาจเจอกับคู่แข่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยผลสำรวจขององค์การการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) แสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายเงินด้านสุขภาพต่อหัวประชากรในกัมพูชา ตกประมาณเดือนละ 53 ดอลลาร์ สูงกว่าประเทศที่มีฐานะมั่งคั่งกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย ที่มีค่าเฉลี่ยที่ราว 37 ดอลลาร์ต่อเดือน
เวียดนามก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่บรรดาผู้ประกอบการด้านสถานออกกำลังกาย และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้ความสนใจมากขึ้น ท่ามกลางพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป และมีสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน เวียดนามมีสัดส่วนอุปกรณ์ออกกำลังกายราว 30% ของยอดรวมอุปกรณ์ออกกำลังกายทั้งหมดใน 6 ชาติสมาชิกรายใหญ่สุดของอาเซียน และคิดเป็นสัดส่วนที่มากสุดในบรรดาสมาชิกอาเซียนด้วยกัน

แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส แอนด์ โยคะ เป็นเชนฟิตเนสท้องถิ่น ของบริษัทที่ก่อตั้งโดยชาวอเมริกัน ที่ปัจจุบันมีสมาชิกราว 100,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในนครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย ท่ามกลางสถานออกกำลังกายต่างๆ ที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ

“ผมคิดว่า ชาวเวียดนามให้ความสนใจกับกีฬาอย่างมา โดยมองว่าเป็นวิธีที่จะรักษาสุขภาพไว้ได้” เอทาโร โคจิมะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยต่างประเทศ ของเจโทรกล่าว
ดูเหมือนว่า รัฐบาลเวียดนามก็จะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นต่อการที่เด็กๆ เยาวชนในประเทศไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

16143479 1203710763083507 88455064047365440 o
ภาพ : เฟซบุ๊กเพจ gunze sports cambodia

ล่าสุด รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ทบทวนรูปแบบการเรียนการสอนในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยตั้งเป้าที่จะสร้างความสมดุลระหว่างการเรียนในห้องเรียนกับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย ในเด็กชั้นประถมศึกษามากขึ้น

มิซูโนเข้ามาคว้าโอกาส จากความรู้สึกที่เร่งด่วนในเรื่องการออกกำลังกาย เพื่อสร้างการตระหนักถึงแบรนด์ของบริษัทเวียดนาม ผ่านการออกโครงการกีฬาที่เรียกว่า “เฮกซ์แซทลอน” สำหรับเด็กๆ ซึ่งกีฬาในกลุ่มรวมถึง การปั่นจักรยาน และการกระโดด โดยมีกำหนดที่จะเริ่มเปิดตัวตามโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศราว 15,000 แห่ง ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป

ทั้งมิซาโน และกุนเซ สปอร์ตส์ ต่างหวังว่า ความพยายามของพวกเขา จะช่วยหนุนยอดขายในผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยว ในช่วงเวลาที่ตลาดสุขภาพของทั้ง 2 ประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Avatar photo