COLUMNISTS

นวัตกรรมผสานเทคโนโลยีสุดล้ำ โดนใจผู้บริโภคอย่างไร?

Avatar photo
กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร
232

shutterstock 675102319

ทิศทางธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต่อการทำงานอย่างหนัก แต่กลับกันเราได้เห็นอุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ซึ่งทั้ง 2 ด้าน เป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรม และปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ก็คือ “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี”

ในภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ต้องปรับตัวอย่างมากเช่นกัน คำว่า Property Technology หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า PropTech ได้เข้ามาสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ของไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีซึ่งก้าวไปสู่ดิจิทัลแทบทุกอย่าง แน่นอนว่าเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วทันใจแบบ real time โดยในยุคแรกๆ ของวงการอสังหาริมทรัพย์นั้น เราจะเห็นว่า PropTech เริ่มเข้ามาในรูปแบบของการจ่ายเงินจอง การโอนค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือการรับชมห้องตัวอย่างผ่านระบบ Virtual Reality

เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยเพียงแต่ด้านบริการลูกค้าเท่านั้นแต่ยังช่วยให้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างให้มีความก้าวหน้าไปอย่างมากเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างในระบบพรีคาสท์ (Pre-cast construction method) หรือระบบชิ้นส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป จากเดิมที่เป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนซึ่งการใช้พรีคาสท์ในปัจจุบันเป็นการเชื่อมโยงการออกแบบด้วยเทคโนโลยี มีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างเร็วขึ้น ได้คุณภาพมาตรฐาน สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังสามารถออกแบบวัสดุให้เหมาะสมสอดคล้องกับรูปแบบพื้นที่ของอาคารนั้นๆ และมีความแข็งแรงมากกว่าโครงสร้างผนังแบบที่เป็นระบบก่อ ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์คือได้สินค้าที่ได้มาตรฐาน ลดความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการแบบเดิมที่ต้องอาศัยความชำนาญของช่าง หรือสภาพอากาศ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยในการก่อสร้างมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบ 3D Printing ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในการก่อสร้างบางขั้นตอนในอนาคต

shutterstock 82208929

ไม่เพียงแค่นั้นเทคโนโลยียังสามารถนำมาช่วยในการดูแลรักษาบ้าน เช่นลดขั้นตอนการซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากปัจจุบันไม่เพียงแต่มนุษย์เราเท่านั้นที่สื่อสารกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่ Internet of Things (IoT) เป็นการที่อุปกรณ์หรือสิ่งต่างๆ ได้ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่โลก ทำให้มนุษย์สั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครื่อข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การมีเซ็นเซอร์ในบ้านตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้อยู่อาศัย และส่งสัญญาณไปสั่งเปิด/ปิดสวิตซ์ไฟตามห้องต่างๆ ที่มีคนหรือไม่มีคนอยู่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย รวดเร็ว และลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย ในการดูแลที่อยู่อาศัยในระยะยาวได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียม เนื่องจากสามารถนำเทคโนโลยีเชื่อมกับเซนเซอร์ติดตั้งไว้กับอุปกรณ์ต่างๆ และเมื่อเซนเซอร์พบว่าอุปกรณ์เหล่านั้นเกิดปัญหาต้องได้รับการแก้ไขก็จะส่งข้อมูลแจ้งไปยังหน้าจอมอนิเตอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ดูแลอาคารสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ลดการสูญเสียที่จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังถูกนำมาสอดแทรกในรูปของงานบริการหลังการขาย รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อรองรับความต้องการของผู้อยู่อาศัย เช่น การควบคุมอัตโนมัติภายในบ้านหรืออาคารผ่านระบบเซ็นเซอร์ การควบคุมแสงสว่าง การสั่งงานอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ช่วยให้ผู้บริโภคมีความสะดวกสบายและเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะส่งผลต่อมูลค่าและราคาอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไกลตัวอีกต่อไป ยิ่งมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใดราคาของเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะเริ่มมีราคาลดระดับลงมาจนเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนเทคโนโลยีเพื่อที่อยู่อาศัย (PropTech) เหล่านี้อาจเป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นหากผู้ประกอบการรายใดที่พร้อมเปิดรับและนำไปต่อยอดทั้งผลิตภัณฑ์และการให้บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการและตรงใจลูกค้าได้ การจะเข้าไปครองใจผู้บริโภคในยุค 4.0 ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปครับ