Politics

‘สะพานด้วน’ สวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรก เจอกันปี 63

“การเดิน” เป็นการออกกำลังกาย ที่เสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และสามารถทำได้ทุกวัน จึงมีการส่งเสริมการเดินในชีวิตประจำวัน แต่ในหลายพื้นที่กลับไม่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดิน ที่ผ่านมา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เลยขอเป็นแกนหลักในการรณรงค์การเดิน และเดินสายไปยังหน่วยงานของเจ้าของพื้นที่ต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการสร้างสถานที่ส่งเสริมการเดินของประชาชน

1
นิรมล เสรีสกุล

“ เมืองออกแบบได้ ” คือ สาระสำคัญที่ ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ  UddC  พยายามจะสื่อสารออกไป นอกจาก “การออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับคนสูงวัย” ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกแบบอาคาร และพื้นที่สาธารณะทั่วโลกแล้ว  สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ การออกแบบเมืองสำหรับคนที่ยังไม่แก่ เพื่อเตรียมความพร้อม ให้คนเหล่านี้แก่อย่างมีคุณภาพ (Active Ageing) โดยเมืองต้องสร้าง “ วัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่ดี ” ที่ส่งเสริมให้คนสะสม “ทุนสุขภาพ” ไว้ใช้ยามชรา

พร้อมกับย้ำ เมืองจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เช่น ทางเท้า และสวนสาธารณะ เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ จากโครงการ “ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ” (GoodWalk) ที่ดำเนินการโดย UddC ผ่านการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า กรุงเทพฯ และเมืองขนาดรองในไทย 33 เมือง เป็นเมืองเดินได้ราว 800 เมตร เฉพาะในกทม.มี 60% ของ 17 เขตที่เดินได้ แต่ล้วนยังเดินไม่ดี คือ สามารถเดินไปยังพื้นที่เป้าหมายในชีวิตประจำวัน โดยไม่ใช้รถยนต์ แต่เดินไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย และไม่น่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนสูงอายุ และคนทุกวัย

อย่างไรก็ตาม กทม.ยังมีศักยภาพ ในการพัฒนาโครงข่ายพื้นที่สีเขียว และนำมาออกแบบ เพื่อยกระดับสุขภาวะให้คนเมืองได้ เช่น โครงสร้างทิ้งร้าง และพื้นที่ใต้ทางด่วน เฉพาะใจกลางพื้นที่ กทม. พบว่า มีพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 600 ไร่ หรือเท่ากับ 2 เท่าของขนาดสวนลุมพินี  หากโครงสร้างทิ้งร้าง และพื้นที่ใต้ทางด่วนได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว จะส่งผลให้การเข้าถึงสาธารณูปการสำหรับสุขภาพมีเพิ่มมากขึ้น

“ แม้ว่าเราจะรู้สึกว่า กทม. แออัด แต่แท้จริงแล้ว กทม. มีพื้นที่ศักยภาพมากมาย ที่สามารถนำมาออกแบบ เพื่อยกระดับสุขภาวะคนในเมืองได้ ”

5

และหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวคือ พื้นที่กรรมสิทธิ์ของรัฐที่มีการใช้งานต่ำ (under-utilized) เช่น “โครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ก” หรือ ที่เรียกว่า “โครงการสะพานด้วน”  ซึ่งขณะนี้กำลังถูกฟื้นฟู รางรถไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างไม่เสร็จ และไม่ได้ใช้ประโยชน์มานาน

ผศ.ดร.นิรมล เล่า ว่าเราเดินเข้าไปคุยกับผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกทม. ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี  มีการอนุมัติเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท จากสภากรุงเทพมหานคร คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2563 เป็นโครงการทางเดิน และทางจักรยานสีเขียวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยที่สุด ขนาดความยาว 280 เมตร และกว้าง 90 เมตร มีลิฟท์ และบันไดขึ้นลง ให้สามารถใช้งานได้ทุกเพศทุกวัย ทิวทัศน์ที่สวยงามของสถานที่ เชื่อว่าจะดึงดูดให้ผู้คนออกมาเดินเล่น ออกกำลังกาย และชมทัศนียภาพบนสะพาน

“ เชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นต้นแบบแห่งความร่วมมือ ของหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และส่วนกลางในการฟื้นฟูเมือง นำพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มา ทำให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายให้กับประชาชน เชื่อว่าจะมีโครงการสองและสามตามมาแน่นอน ”   

4

ผศ.ดร.นิรมล ย้ำว่า การกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ แต่ละเขตในกทม.บริหารจัดการพื้นที่รับผิดชอบอย่างอิสระจะเป็นหัวใจสำคัญ และจะเป็นการ “ทะลายคอขวด” ของการพัฒนาเมืองที่สามารถตอบสนองปัญหา และความต้องการที่หลากหลายของคนได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้การออกแบบเมือง เพื่อรองรับอนาคตที่มี “ศตวรรษนิกชน” หรือ คนอายุมากกว่า 100 ปีที่เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนทุกวัย ทั้งแก่ และยังไม่แก่  “เดินได้ เดินดี เดินร่ม เดินเย็น”

“เมืองที่เต็มไปด้วยพื้นที่สาธารณะส่งเสริมสุขภาวะ ที่เข้าถึงได้ด้วยการเดินเท้า ต้องเป็นวาระสำคัญของเมือง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคน โดยเฉพาะการที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ต้องเตรียมความพร้อมรองรับ ให้คนมีโอกาสสะสมทุนสุขภาพไว้ใช้ตอนแก่ ที่สำคัญการสร้างสภาพแวดล้อมของเมืองให้เดินได้ หมายรวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการรักษาต้นไม้ และปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นการลดอุณหภูมิของเมืองได้อย่างดี ยกตัวอย่างในสิงคโปร์ ที่ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ช่วยลดอุณหภูมิถึง 4 องศาเซลเซียส  ” 

เมืองที่ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ มาด้วยกันเสมอ และจะมาพร้อมกับสุขภาพกาย และใจของผู้คน ให้คนไทยมีสุขภาวะอย่างแท้จริง 

Avatar photo