COLUMNISTS

บทบาทของผู้นำองค์กรในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว (จบ)

Avatar photo
Head of Faculty สลิงชอท กรุ๊ป
5413

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญ 3 ประการ (3C) ของผู้นำองค์กร ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว นั่นคือ Communication (การสื่อสาร), Commitment (ความมุ่งมั่น) และ Collaboration (การร่วมแรงร่วมใจ)

leadership 153250 960 720

ในตอนนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดพฤติกรรมที่ผู้นำจะสามารถนำไปปรับใช้ในการสร้างและสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้ของพนักงานในองค์กร ดังนี้

  1. Communication (การสื่อสาร) โดยเริ่มจากการพัฒนาตัวเองเป็นตัวแบบ (Model) ปรับปรุงตนเองและองค์กรผ่านการรับข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) อย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น โดย
    1.1. พัฒนาตนเองในฐานะผู้นำที่มีความเข้าอกเข้าใจ มีเมตตาและแสดงความเอาใจใส่คนรอบข้างเป็นตัวแบบที่ตนเองต้องการจะเห็นก่อน มิใช่เพียงแต่พูดว่าต้องการเห็นอะไร แล้วใช้การนำแบบเป็นตัวอย่างนี้ (Leading by Example) ไปพัฒนาผู้อื่นต่อไป
    1.2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิธีคิดที่มีคุณภาพสูง เพื่อนำไปสู่การกระทำที่มีคุณค่า ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านมาด้วยการมองปัญหาจากหน้างานจริงในหลายแง่มุม แล้วจึงตัดสินใจลงมือทำภายในเวลาที่กำหนด
    1.3. กล้าที่จะรับข้อมูลป้อนกลับ แม้หลายครั้งจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา แต่ควรมองให้เห็นถึงแก่นของความคิดเห็น เปิดรับฟังคำแนะนำด้วยความเคารพ ยินดี และกระตือรือร้น จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
  2. Commitment (ความมุ่งมั่น) ผู้นำแสดงออกถึงความตั้งใจจริงในการสร้างแรงบันดาลใจเพราะตระหนักว่าพนักงานต้องการงานที่สร้างคุณค่า ความหมายและการผูกพันธ์ทางอารมณ์เพื่อก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม รวมทั้งการที่ผู้นำมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร โดย
    2.1 มุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องเป้าหมายที่มีร่วมกับพนักงานในองค์กร มีวิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Vision of Change) ที่มีความหมายและปรับใช้ได้จริงในองค์กร โดยการกระทำของผู้นำต้องมีความเด่นชัด ประจักษ์แก่ใจของเพื่อนพนักงาน จนเกิดแรงบันดาลให้ลงมือทำ
    2.2 เป็นคนที่สามารถเข้าถึง เปิดเผยและซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ เป็นผู้นำที่เห็นความสำคัญของประสบการณ์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง (Human Experience) ที่เมื่อตนตระหนัก เข้าใจและทำงานกับความรู้สึกของตนแล้ว จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้อย่างมหาศาล ก่อกำเนิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผู้นำผลักดันและส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ลักษณะนี้กับพนักงานเช่นกัน
    2.3 “เป็นคนของทุกที่” ในองค์กรของตนเอง มีความเข้าใจและริเริ่มในการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเชื่อว่าศักยภาพในการเป็นผู้นำของพนักงานทุกคนจะช่วยเร่งความสามารถขององค์กรในการเรียนรู้และปรับตัวขององค์กรได้ มีการส่งเสริมให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพการเป็นผู้นำ และได้รับการเมนทอร์ (Mentor) จากผู้บริหาร

    1 tgspARtiaFn7TdbDXkng A

  3. Collaboration (การร่วมแรงร่วมใจ) ผู้นำถ่ายโอนอำนาจของตนเพื่อเสริมพลังพนักงาน และส่งเสริมความสำเร็จของระดับทีมมากกว่าบุคคล รวมถึงเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกที่ในองค์กร โดย
    3.1 เป็นผู้นำที่ตระหนักรู้ว่าพนักงานสามารถทำงานได้ดีที่สุด เมื่อพนักงานได้รับการเสริมพลัง และส่งเสริมความสามารถ ผู้นำจึงต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
    3.2 เป็นผู้นำที่สร้างสังคมการทำงานบนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจขั้นสูง (High Trust) ให้เกียรติ และสร้างความปลอดภัยทางใจ (Psychological Safety) ทั้งยังตระหนักว่าการให้อภัย, การมีเมตตา, การมองในแง่บวก และการรู้คุณ (Gratitude) เป็นสิ่งที่สำคัญในการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี นอกจากนี้ผู้นำต้องทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาพนักงาน ควบคู่ไปกับผลลัพธ์การทำงานและคุณค่าที่ส่งมอบให้องค์กร
    3.3 เป็นผู้นำที่เข้าใจว่า โดยทั่วไปแล้วพนักงานที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหามักมีทางแก้ที่ดีที่สุด ดังนั้นผู้นำจึงให้เวลา เปิดรับและรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาและปรับปรุงงานของพนักงานทุกระดับ

งานของผู้นำในองค์กรที่มีลักษณะ “Agile” คงไม่ใช่งานที่ทำเสร็จในครั้งเดียว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังต้องพัฒนาผู้นำในทุกระดับให้มีความสามารถ แสดงบทบาทในการสื่อสาร สร้างความร่วมมือ และมุ่งมั่นต่อความสำเร็จได้อย่างทั่วทั้งองค์กรทั้งในวันนี้และวันหน้า

มิเช่นนั้นแล้ว ในยุคสมัยที่ว่ากันว่าเป็น “ปลาเร็วกินปลาช้า (มิใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก)” องค์กรที่พยายามเคลื่อนที่เร็ว แต่ขาดความแข็งแรง เพราะผู้นำขาดคุณลักษณะที่เหมาะสม พนักงานไม่ได้รับการเตรียมความพร้อม องค์กรนั้นนอกจากจะเป็นปลา (อยาก) เร็ว ที่กินปลาตัวอื่นไม่ได้แล้ว จะกลายเป็นปลาที่สิ้นแรงไว และแพ้ภัยตัวเองไปในที่สุด