COLUMNISTS

รถไฟความเร็วสูง–การเมือง-ทุน

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
542

ความต้องการรถไฟความเร็วสูงในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จากเป้าหมายหลัก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อก้าวสู่ความทันสมัยยุคใหม่ ของรัฐบาลประเทศ ต่างๆ โดย อาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้ประกาศปักธง บรรจุโครงการรถไฟความเร็วสูงไว้ในแผนพัฒนาของชาติ

รถไฟความเร็วสูง –การเมือง-ทุน

ในฝั่งผู้ขาย จีนกับญี่ปุ่น นับเป็นผู้เล่นหลักในตลาดมูลค่ามหาศาลนี้ ที่ผ่านมาจีนทำตลาดเหนือญี่ปุ่นนิดๆ สามารถปิดดีล อินโดนีเซีย และ ไทยไปแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่น นอกจาก กำลังศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้น กรุงเทพฯเชียงใหม่ อย่างรอบคอบแล้ว กำลังลุ้นปิดดีลโครงการในเวียดนาม

ชัยชนะของจีนในการขยายตลาดรถไฟความเร็วสูงอาเซียนทั้งที่ถูกตั้งคำถามเรื่องคุณภาพ มาจากแพคเกจเงินหยวนยืดหยุ่นกว่าเยน และยังมีจุดขาย เชื่อมต่อกับโครงการ วัน เบลท์ วันโรด อภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน เป็นแรงหนุน

แต่ถึงปักหมุดไว้ในแผนของชาติก็ไม่ใช่หลักประกันว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเหล่านี้จะเดินไปตามแผนที่วางไว้

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง มักเผชิญกับความไม่แน่นอน จากอุปสรรคต่างๆ อยู่เสมอ ทั้ง ความสามารถทางเศรษฐกิจ การถกเถียงเรื่องความคุ้มค่าทางการเงิน และ สำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงการเมือง

ตัวอย่าง ล่าสุดคือ มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่หน้าเดิม วัย 92 ปี ของมาเลเชีย ประกาศยุติโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม กัวลาลัมเปอร์กับสิงคโปร์ ระยะทาง 330 กิโลเมตร(กม.) ที่ นาจิบ ราซัก อดีตนายกฯ ลงนามกับสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว

แม้เจ้าตัว อ้างถึง ความไม่คุ้มค่าทางการเงินกับโครงการที่มูลค่าสูงกว่า 100,000 ล้านริงกิต หรือราว 800,000 ล้านบาท คือเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ แต่ใครจะเชื่อว่าคำสั่งนี้ไม่ได้ผูกโยงกับการเมือง เมื่อย้อนดูเรื่องราวระหว่างคน 2 คนในช่วงที่ผ่านมา

รถไฟความเร็วสูง –การเมือง-ทุน

เวลานี้เท่ากับว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงของ 2 ประเทศ (มาเลย์-สิงคโปร์) ถอยกลับไปอยู่ที่จุดเดิมอีกครั้ง คือ ชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังเลื่อนมาหลายครั้ง ตั้งแต่นับหนึ่งโครงการเมื่อ 2 ทศวรรษเศษที่ผ่านมา ชะลอโครงการครั้งแรก เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง เมื่อ นาจิบ ขึ้นเป็นนายกฯ ได้หยิบโครงการขึ้นมาปัดฝุ่นในปี 2556 และทำข้อตกลงร่วมกันพัฒนากับสิงคโปร์เพื่อนบ้านเมื่อปีที่ผ่านมา ก่อนมาปิดฉากด้วยมือ นายกฯ มหาเธร์

สรุปว่า อาเซียนเหลือ 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ที่โครงการถไฟความเร็วสูงยังอยู่ในแผนของชาติ !!!

ที่ อินโดนีเซีย แม้โครงการรถไฟความเร็วสูง จาก จาการ์ตา – บันดุง ระยะทาง 142 กม. มูลค่ากว่า 5,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.76 แสนล้านบาท ที่ โจโกวี วิโดโด ประธานาธิบดี อินโดนีเซีย สั่งให้รื้อฟื้นโครงการที่ถูกพับเก็บเข้าแฟ้มไปก่อนหน้านี้ มีข่าวความคืบหน้าโครงการไม่มากนัก แต่สถานะของโครงการถือว่ายังอยู่

เวียดนาม ที่ประกาศทำโครงการรถไฟความเร็วสูงก่อนไทย เมื่อเร็วๆนี้ มีรายงานข่าวว่า กระทรวงคมนาคม (เวียดนาม)เตรียมเสนอ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายฮานอยเชื่อมเส้นทางๆเหนือ กับ โฮจิมมินห์ เชื่อมทางใต้ ให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง หลังชะลอมาแล้วครั้งหนึ่ง หากได้รับการอนุมัติคาดว่าโครงการจะสามารถเริ่มได้ในปีงบประมาณ 2562

ส่วนประเทศไทย ของเรา มีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยู่ในแผน 4 โครงการ

  • รถไฟฯไทย-จีน สายกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 252 กม. มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท
  • รถไฟฯเชื่อม 3 สนามบิน 220 กม. มูลค่า 2.06 แสนล้านบาท
  • รถไฟฯกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 672 กม. มูลค่า 4.2 แสนล้านบาท
  • รถไฟฯกรุงเทพฯ-หัวหิน 205 กม. 1.24 แสนล้านบาท

รวม 4 สาย ระยะทาง 1,349 กม.มูลค่า 9.3 แสนล้านบาท

เส้นทาง กรุงเทพฯ-โคราช ที่ไทยจ้างจีนก่อสร้าง เฟสแรก ( กลางดง-ปางอโศก) 3.5 กม.เริ่มก่อสร้างบางส่วนแล้ว ส่วนรถไฟฯเชื่อม 3 สนามบิน วันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาล เปิดให้เอกชนผู้สนใจมาดูโครงการและซื้อเอกสารทีโออาร์ (ข้อกำหนดผู้ว่าจ้าง) โดยรัฐบาลใช้ วิธีเปิดให้เอกชนร่วมทุนแบบพีพีพี (การร่วมลงทุนรัฐเอกชน) แลกกับสัมปทาน 50 ปีเพื่อลดแรงกดดันจากหนี้สาธารณะในอนาคต

หากโครงการรถไฟความเร็วสูง เดินหน้าตามแผน ควบคู่ไปกับโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในเมือง ระบบรางที่จะเติมเข้ามาในโครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยแน่นอน

เวลานี้แค่มีข่าวความคืบหน้าโครงการ ราคาที่ดินก็ขยับ รอกันแล้ว ขณะที่บรรยากาศก่อนการประมูลโครงการรถไฟฯเชื่อม3 สนามบินอยู่ในระดับ คึกคัก อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ออกมายืนยันว่ามีกลุ่มทุนไม่น้อยกว่า 5 รายแสดงเจตจำนงเข้าร่วมประมูล

ถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย คงเดินหน้าตามแผน แต่โครงการที่ ใช้เงินลงทุนมูลค่ามหาศาลผูกพันงบประมาณต่อเนื่องนับสิบปี ยังมีความเสี่ยงที่จะ ถูกพับเก็บเข้าแฟ้ม จากข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หรือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง

เช่นเดียวกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง มาเลเซีย เชื่อม สิงคโปร์ ทั้งที่นายกฯ 2 ประเทศจับมือกันแล้ว พอขั้วการเมืองเปลี่ยน ทุกอย่างก็จบ