Economics

ลุยเปิดประมูลรถไฟฟ้าภูมิภาค ‘โคราช-ภูเก็ต’ ปีหน้า

“รฟม.” ลุยเปิดประมูลรถไฟฟ้าภูมิภาค “โคราช-ภูเก็ต” 4.4 หมื่นล้านบาทปีหน้า ด้าน “แทรมเชียงใหม่” กำลังออกแบบ

S 82829350

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า วันนี้ (30 พ.ค.) รฟม. ได้ลงนามว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และ บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study), ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา (TOR) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว เส้นทางตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ด้วยวงเงิน 85.6 ล้านบาท

เบื้องต้น รฟม. คาดว่าจะเริ่มแจ้งบริษัทที่ปรึกษาให้เริ่มปฏิบัติงานได้ในเดือนมิถุนายน 2562 และใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 1 ปี
โดย รฟม. คาดว่าบริษัทที่ปรึกษาจะสามารถสรุปรูปแบบการลงตามทุนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ในช่วง 6 เดือนแรก

จากนั้นจะ รฟม. เสนอรายงานการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม., กระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณาตามลำดับ

S 82829347

โดยการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในจังหวัดนครราชสีมา จะมีรูปแบบเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ในกรุงเทพฯ ซึ่งเอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนและรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ส่วนภาครัฐจะช่วยอุดหนุนวงเงินค่าก่อสร้างบางส่วนและทยอยจ่ายคืนให้เอกชนภายใน 10 ปี

“วงเงินลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะเริ่มเปิดประมูลปลายปี 2563 ก่อสร้างปลายปี 2564 และเปิดให้บริการได้ต้นปี 2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 10,000 คนต่อวัน ด้านรถไฟฟ้าเฟสถัดไป สายสีส้มและสายสีม่วงจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อไหร่ ก็ต้องรอดูเสียงตอบรับจากสายสีเขียวก่อน” นายภคพงศ์กล่าว

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว จะก่อสร้างเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน (Tram) มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก – ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ ระยะทางประมาณ 11.17 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 20 สถานี ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน ตลาดมิตรภาพ สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา คลังพลาซ่าใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานจังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นต้น

นายภคพงศ์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างแทรมในจังหวัดภูเก็ตว่า ล่าสุดอยู่ระหว่างปรับแบบแทรมให้สอดคล้องกับข้อสังเกตเรื่องความปลอดภัยของกรมทางหลวง (ทล.) คาดว่าการปรับแบบจะแล้วเสร็จในต้นเดือนมิถุนายน 2562

S 82829348

โดยเบื้องต้น รฟม. จะต้องปรับทางระดับพื้นดิน ให้เป็นทางลอดจำนวน 2 จุด ได้แก่ บ้านหยี่เต้งและมุดเอกขาว คิดเป็นวงเงิน 800 บาทต่อจุด รวมแล้วส่งผลให้วงเงินการลงทุนเพิ่มขึ้น 1,600 ล้านบาท เป็นประมาณ 35,000-36,000 ล้านบาท

ด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) ที่ผ่านมาอยู่ที่ 13.5% แต่ถ้าต้องลงทุนเพิ่มเติมอีก 1,600 ล้านบาท ก็ต้องคำนวณ EIRR ใหม่ ซึ่งเบื้องต้น รฟม. ก็มีข้อกำหนดว่า EIRR ต้องไม่ต่ำกว่า 12%

ทั้งนี้ รฟม. คาดว่าสรุปข้อมูลและเสนอรายงาน PPP โครงการแทรมภูเก็ตให้บอร์ดพิจารณาได้ประมาณเดือนกันยายน 2562 หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องให้ สคร., บอร์ด PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้เร็วที่สุดในปลายปีนี้ ก่อนเปิดประมูลได้ต้นปี 2563

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ในจังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการจ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษา ออกแบบ และจัดทำทีโออาร์ ด้านโครงการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก ยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเพื่อออกกฎหมายให้ รฟม. มีอำนาจในการลงทุน

Avatar photo