Economics

สะพัด!! ‘กลุ่มBA’ ไม่ผ่านเหลือตัดเชือก ‘คิงเพาเวอร์ – ROH’ ชิงDuty Free

สะพัดผลการพิจารณาด้านเทคนิคและผลตอบแทนให้กับรัฐ ในการประมูลดิวตี้ฟรี “กลุ่ม BA” เสนอเอกสารไม่ครบถ้วน ไม่ผ่านการพิจารณา เหลือชิงดำแค่ “กลุ่มคิงเพาเวอร์ – ROH ” ลุ้นอีกครั้งอย่างเป็นทางการเช้า 31 พ.ค.นี้ 

หลังจากที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดให้เอกชน 3 กลุ่ม

  1. บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
  2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และพันธมิตร ได้แก่ บริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีจากเกาหลีใต้  และบริษัทบางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด
  3. บริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH และพันธมิตร ได้แก่ บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีที่มีฐานในประเทศอังกฤษ  ผู้ยื่นซอง “งานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) สนามบินสุวรรณภูมิ” นำเสนอ (Presentation) ข้อเสนอด้านเทคนิค ไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562

ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ สนามบิน4

การเสนอด้านเทคนิค และการนำเสนอของทั้ง 3 กลุ่มวันนั้น  วิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาดทอท. บอกว่าผู้บริหารระดับสูงของแต่ละบริษัทเป็นผู้มาพรีเซนต์ และตอบคำถามด้วยตัวเอง ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย ด้านเทคนิคเอกชนแต่ละรายคงไม่มีปัญหา เพราะทุกคนก็มีประสบการณ์ เป็นผู้เล่นระดับโลก แต่ไม่สามารถเปิดเผยคะแนนด้านเทคนิคได้  ต้องนำไปรวมกับคะแนนเปิดซองผลตอบแทน

วันที่ 31 พฤษภาคมนี้  เวลา 9.30 น ทอท. จะเชิญผู้ยื่นซองดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิทั้ง 3 ราย มาเปิดซองผลตอบแทน โดยในขั้นตอนคือ ทอท. จะนำข้อเสนอด้านราคาออกจากตู้นิรภัย แล้วให้เอกชนแต่ละรายตรวจสอบว่า ซองอยู่ในสภาพปกติหรือไม่ ตัวเลขผลตอบแทนถูกต้องหรือไม่ จากนั้น ทอท. จะนำคะแนนด้านเทคนิคและคะแนนด้านราคารวมกัน ผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ

ล่าสุดแหล่งข่าวจากคณะกรรมการพิจารณาการประมูลดิวตี้ฟรี กล่าวว่าจากการพิจารณาด้านเทคนิค และผลตอบแทนรัฐตามทีโออาร์ ซึ่งประกอบ 4 ส่วนหลัก

  1. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจที่ผ่านมา โครงสร้างองค์กร และแผนการพัฒนาบุคลากร งบการเงินที่ผ่านการรับรอง
  2. แผนการดำเนินงาน  แนวคิดหลักการบริหารจัดการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร การออกแบบตกแต่งสถานที่ และระยะเวลาการดำเนินงาน แผนการจัดร้านค้าและบริการ รวมถึงแผนการตลาด
  3. แผนธุรกิจ ต้องมีประมาณการรายได้ของผู้ยื่นข้อเสนอ และประมาณการกำไรขาดทุน ประมาณการงบดุลและงบลงทุน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ความสามารถในการระดมทุน การชำระหนี้ และ D/E ratio
  4. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ที่เสนอให้ ทอท.

สะพัด “กลุ่ม BA” ยื่นเอกสารทางการเงินไม่ครบ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการพิจารณาด้านเทคนิคผ่านทั้ง 3 ราย ในเบื้องต้นจากการพิจารณาด้านเอกสารด้านการเงิน ปรากฎว่าในส่วนของกลุ่ม BA ยื่นเอกสารทางการเงินบางอย่างไม่ครบถ้วน ทำให้คณะกรรมการไม่สามารถให้ผ่านการพิจารณาได้  แต่ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาอีกทีก็ได้ ว่าจะดำเนินการอย่างไรท แต่หากคณะกรรมการเห็นว่าให้เสนอเพิ่มเติมไม่ได้ ก็จะทำให้เหลือเพียง 2 กลุ่ม คือกลุ่มคิงเพาเวอร์และกลุ่ม ROH ที่จะเข้าชิงการประมูลดิวตี้ฟรี

แหล่งข่าว กล่าวว่ากลุ่มที่เหลือใครจะเป็นผู้ชนะการประมูลอยู่ที่การเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐว่ามีการเสนอมากน้อยกันอย่างไร โดยเชื่อว่าแต่ละกลุ่มน่าจะมีการเสนอผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงการเสนอธนาคารที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน โดยในส่วนของ ROH คาดว่าใช้ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงิน

การประมูลครั้งนี้แม้จะมีกลุ่มผู้สนใจหลายราย แต่ที่น่าสนใจคือพันธมิตรของผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละราย เมื่อเจาะลึกไปยังพันธมิตรแต่ละกลุ่มยิ่งน่าสนใจ โดยเฉพาะพันธมิตรของกลุ่ม ROH ซึ่งมีบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED

“ไพโรจน์-ทักษิณ”นักช้อปทีมฟุตบอล

ROH มี วิชัย ทองแตง เป็นประธานกรรมการ  ROH ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ภายใต้กลุ่ม ROH   มีบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด  และ WDFG UK LIMITED  สำหรับบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด  ของ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร คนหนึ่ง โต้โผใหญ่เมื่อครั้งเข้าไปซื้อกิจการสโมสรเรือใบสีฟ้า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปี 2550 ก่อนที่จะขายให้กับกลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง

พร้อมกันนี้ยังมีข่าวออกมาว่าในบอร์ดบริหารทีมเรือใบสีฟ้า ทักษิณ ได้เสนอชื่อ 4 นักธุรกิจดังชาวไทยร่วมด้วย หนึ่งในนั้นก็มี ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ร่วมกับอีก 3 นักธุรกิจ ความใกล้ชิดของไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ กับ ทักษิณ มีมายาวนาน รวมทั้งเป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สินทั้งที่ลอนดอนและดูไบแบบเบ็ดเสร็จ เมื่อครั้งที่ทักษิณ โดนรัฐประหาร ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ความใกล้ชิดของของทั้งคู่ก็เกิดปัญหาบาดหมางขึ้น จากการซื้อขายสินทรัพย์ทั้งที่ลอนดอนและดูไบ

ใครต่อใครมักพูดว่า ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ คือ“นายหน้านักช้อปตัวยง” เพราะไม่ได้เจรจาซื้อเฉพาะ แมนเชสเตอร์ ซิตี้  ยังมี ทีมเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมดังจากศึกพรีเมียร์ลีก  ทีม พอร์ตสมัท

ไพโรจน์ เปี่ยมพงศาสน์
ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 สื่อดังประเทศกรีซ ตีข่าวว่า พานาธิไนกอส ทีมดังในศึกซุปเปอร์ลีก กรีซ  ตกลงเบื้องต้นขายสโมสรให้กับ แพน เอเชีย ฟันด์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ เป็นเจ้าของ 

เช่นเดียวกับการเข้าซื้อทีม Reading เมื่อปี ค.ศ. 2014 (ต้นฤดูกาล 2014/2015) ด้วยเงินระหว่าง 25-35 ล้านปอนด์ ของคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์  ยังมีชื่อของ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกว่าเป็นผู้สนับสนุนการซื้อ แต่ในที่สุดก็ต้องขายออก การเข้าซื้อทีม Reading ของคุณหญิงศศิมา ทำเอาคนในครอบครัวไปพอใจเพราะใช้เงินจำนวนมาก และไม่เกิดประโยชน์  ด้วยการชักนำจากคนภายนอกจนต้องขายออกไป

ฉะนั้นไม่แปลกถ้าจะบอกว่าพันธมิตรของ ROH ของ วิชัย ทองแตง ได้นักช้อปตัวยงจากทีมฟุตบอลมีความใกล้ชิดกับ ทักษิณ เป็นทั้งนายหน้าและนักช้อปแบบซื้อๆขายๆโดยเฉพาะทีมฟุตบอล จึงไม่แปลกหากมีส่วนที่จะดึง WDFG UK LIMITED เข้ามาร่วมกับ ROH ในฐานะนายหน้าตัวยง 

ขณะที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ คือกลุ่มคนไทยแท้ 100% กับการเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้ จึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความชำนาญจากการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วเท่านั้น  การบริหารดิวตี้ฟรีที่ผ่านมา กลุ่มคิงเพาเวอร์ มีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐอย่างไร ทอท.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็เห็นอยู่แล้ว ที่สำคัญความเป็นคนไทย ยังช่วยในเรื่องของการจ้างงาน มีส่วนเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักเข้าประเทศขณะนี้

ดังนั้นวันพรุ่งนี้ (31พ.ค.) ใครจะได้ครอบครองการบริหารดิวตี้ฟรีจากนี้ไป เราจะรู้คำตอบที่ชัดเจน จะเป็นต่างชาติหรือคนไทย คำตอบน่าจะอยู่ที่ผลการพิจารณา ตามข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้

วิทวัส วิภากุล225621
วิทวัส วิภากุล

ขณะที่ นายวิทวัส วิภากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  กล่าวถึงการเข้าร่วมประมูลดิวตี้ฟรี ว่าการตัดสินใจเข้าร่วมประมูล การนำพาร์ทเนอร์อันดับหนึ่งของโลก  มีประสบการณ์  และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการร้านค้าปลอดอากร  เพื่อสร้างรายได้ให้กับท่าอากาศยานไทย และประเทศไทย จึงมีการเจรจาพูดคุยมาอย่างต่อเนื่องกับกลุ่ม เวิลด์ ดิวตี้ฟรี กรุ๊ป (WDFG UK)

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight