Economics

GC ลุย 3 โปรเจคยักษ์ปิโตรเคมี มาบตาพุด ดันรายได้ปี 64 โต 7%

GC ปักหลักมาบตาพุด ฐานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เดินหน้าลงทุนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กระตุ้นการลงทุน EEC กว่าแสนล้านบาท มุ่ง 3 โครงการยักษ์ ดันรายได้เติบโต 7% ปี 64 ย้ำความก้าวหน้าโครงการก่อสร้าง 50 % พร้อมได้ข้อสรุปโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ และผู้ร่วมทุนโครงการรีไซเคิลพลาสติกเดือนมิถุนายนนี้ 

กลุ่มใหญ่ที่สุดที่ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) เห็นทีจะไม่พ้นกลุ่มปตท. โดยเฉพาะบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ที่ปักฐานที่มั่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง มูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางและมีสมรรถนะสูง (Performance Chemicals)

LINE P20190529 184005791

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า การลงทุนในอีอีซีเป็นกลยุทธ์แผนระยะยาวของบริษัท  ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมี 3 โครงการใหญ่ ลงทุน 70,000 ล้านบาท เป็นโครงการต่อยอดวัตถุดิบไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งได้รับการอนุมัติการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง

โดยทั้ง 3 โครงการจะทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้น 7% ในปี 2564 หลังจากมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ หรือจากรายได้ 5 แสนล้านบาทในปี 2561 เพิ่มอีก 31,700 ล้านบาท

IMG 20190529 150826

สำหรับทั้ง 3 โครงการลงทุน ประกอบด้วย

1) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration (ORP) เพื่อขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker เป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบที่บริษัทฯ มีอยู่แล้ว และเป็นการต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและ โพรพิลีน 250,000 ตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว ประมาณ 45% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท

2) โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) ดำเนินการโดย บริษัท GC Oxirane จำกัด (GCO) โดย GC ถือหุ้น 100 % เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลีออลส์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 56 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563

3) โครงการโพลีออลส์ (Polyols) ดำเนินการโดย บริษัท GC Polyols จำกัด (GCP) โดย GC ถือหุ้น 82.1% Sanyo Chemical 14.9 % และ Toyota Tsusho 3 % เพื่อผลิตโพลีเอเทอร์โพลีออลส์ (Polyether Polyols) 130,000 ตันต่อปี

โพลิเมอร์โพลีออลส์ (Polymer Polyols) 30,000 ตันต่อปี และ พรีมิกซ์ (Premix) 20,000 ตันต่อปี เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีน ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 60 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 โดยทั้งสองโครงการ PO และ Polyols มูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท มีผู้ร่วมทุนที่แข็งแกร่งจากญี่ปุ่น ทั้งด้านเทคโนโลยีอย่าง Sanyo Chemical และด้านการตลาดจาก Toyota Tsusho

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์จากโพลีออลส์ สามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์สมรรถนะสูง ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอีเล็คทรอนิกส์  กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์  กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือน กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า และกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน New S-Curve

21213

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุน ​ปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท PTTGC America LLC (PTTGCA) ร่วมกับบริษัท Daelim Industrial Co., Ltd. (DAELIM) ผู้ดำเนินธุรกิจก่อสร้าง และเคมีภัณฑ์ จากเกาหลีใต้นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุป และตัดสินใจลงทุนขั้นตอนสุดท้ายในเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนการลงทุนโรงงานรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว มูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านบาทที่จังหวัดระยองนั้น จะได้ข้อสรุปเรื่องพันธมิตรลงทุนจากยุโรปในเดือนหน้าเช่นกัน โดย GC จะถือหุ้น 70% โครงการนี้ GC จะทำเป็นโครงการนำร่องการรีไซเคิลขยะที่ได้มาตรฐานระดับโลกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ขยะพลาสติกในการผลิต 50,000 ตันต่อปี ผลิตเป็นเม็ดพลาสติก 40,000 ตันต่อปี คิดเป็นยอดขายประมาณ 1,521 ล้านบาท ที่สำคัญช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ ให้นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

Avatar photo