Politics

ร้าวหนัก!! เขี่ย ‘สามมิตร’ จนมุม … สะเทือนถึง’ปชป.’สูตร 3+4

มันไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้วสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล แม้แกนนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเคลื่อนไหวเดินสายเทียบเชิญ “สู่ขอ” พรรคการเมืองขนาดกลางร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในภาพที่ปรากฎดูเหมือนชื่นมื่น แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐเองลึกๆ ข่าวว่าแตกกันกระเจิง สภาพภายในพรรคไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี 2 ขั้วอยากร่วมกับไม่อยากร่วมรัฐบาล แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐแตกกันที่ “เก้าอี้ไม่ลงตัว” แต่อีกสักพักก็คงจะวนมาที่พรรคประชาธิปัตย์ในประเด็นนี้

ด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคพลังประชารัฐ มีหลายกลุ่ม หลายมุ้ง ที่ยังไม่ค่อยจะพอใจกับการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีสักเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนไม่มีกลุ่มไหนกล้าพอที่จะออกมาต่อกลอนได้เท่ากับ“กลุ่มสามมิตร” ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

สภา2551

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่โหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เสมือนเป็นสนามทดสอบไปแล้ว ก็เพราะข้อสอบรั่วมีคนทำโพยหล่น แถมระบุที่นั่งรัฐมนตรีของพรรคร่วมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ได้โควตารัฐมนตรีกระทรวงไหนอย่างไร จึงเป็นที่มาของ “สูตร 3+4” นั่นคือ 3 รัฐมนตรีว่าการ และ 4 รัฐมนตรีช่วย

“สูตร 3+4” สั่นสะเทือนกลางที่ประชุมสภา ระหว่างที่จะมีการโหวตเลือกประธานสภาฯมาแล้ว มาถึงวันนี้อาการอึมครึมยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง 

ทว่า “กลุ่มสามมิตร” ไม่ได้ติดใจอะไร สำหรับโพยที่หล่นออกมาของพรรคภูมิใจไทย แต่ติดใจโพยของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า  เพราะดันมี “ผู้จัดการรัฐบาล” ของพรรคพลังประชารัฐ ไปยกเก้าอี้ที่ “กลุ่มสามมิตร”ตีตั๋วจองไว้ล่วงหน้า แลกกับการตัดสินใจร่วมพรรคพลังประชารัฐ หากได้เป็นรัฐบาล พวกเขาต้องได้ เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นี่เป็นความหวังตั้งแต่แรก

ระหว่างลงพื้นที่หาเสียงก็เที่ยวป่าวประกาศจนกระทั่งชาวบ้านหลงเชื่อว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาล “กลุ่มสามมิตร” น่าจะช่วยแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านได้ จนทำให้ “กลุ่มสามมิตร” มีส.ส.ติดไม้ติดมือมาจำนวนหนึ่ง

แต่เหตุไฉนหลังเลือกตั้งจบ ถึงตอนแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี “กลุ่มสามมิตร” ถึงไม่อยู่ในสายตาของ ผู้จัดการรัฐบาล แม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังถูกมองเป็น “อากาศ” ไปเสียอย่างนั้น สำหรับ “กลุ่มสามมิตร” ในทางการเมืองเรียกว่า “ไม่ธรรมดา” กลุ่มหนึ่ง  หากไม่เป็นไปอย่างที่หวัง อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เลือกประธานสภาฯเป็นจุดทดสอบแรกมาแล้ว

สมศักดิ์ 11

ความสำคัญต่อ “กลุ่มสามมิตร” ในพรรคพลังประชารัฐเวลานี้ ยังเป็น “ศูนย์” เพราะยังไม่ได้รับการจัดสรรอะไรเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว มีแต่เสียงพรึมพรำๆทำนอง “ให้ไปเลือกเอา” นาทีนี้ไม่รู้จะเหลืออะไรให้เลือกแล้ว

ความไม่ลงรอยวันนี้เรียกว่า ยังวังวนอยู่ภายในพรรคพลังประชารัฐมากกว่า หลังจาก ผู้จัดการรัฐบาล ไปประเคนที่นั่งดีๆให้กับพรรคร่วมขนาดกลางไปแล้ว เพื่อแลกกับการเข้าร่วมรัฐบาล ก่อนวันโหวตเลือกประธานสภาฯไม่กี่ชั่วโมง

มาถึงตอนนี้เรียกว่า “ยื้อ” กันไม่จบ เพราะ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ยอมรับกับสิ่งที่ปรากฎ จนกลายมาเป็นคำพูดของใครต่อใคร “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” อย่างนี้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แม่ทัพเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ จะว่าอย่างไรในฐานะที่ไปดึงเข้ากลุ่มมาแต่แรก ส่วนจะสัญญาใจอย่างไร ต้องสอบถาม “กลุ่มสามมิตร”

อาการดื้อตาใส ของ “กลุ่มสามมิตร” ที่ไม่ยอมปล่อยเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ จึงเป็นเหตุผลสำคัญลุกลามไปยังการประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์และการประชุมส.ส. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ที่ “ผู้อำนวยการพรรค” ต้องแจ้งยกเลิกการประชุมแบบไม่มีกำหนดอย่างกระทันหัน ทั้งๆที่การประชุมอาจต้องมีการพิจารณาประเด็นร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

ปชป. พปชร.

เม้าท์กันกระจายเหตุผลที่ยกเลิกการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ไปโดยไม่มีกำหนด

  1. การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่ลงตัว แม้ ผู้จัดการรัฐบาล จะยกให้พรรคประชาธิปัตย์แล้ว แต่กลุ่มสามมิตรยังไม่เห็นด้วย
  2. เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ถูกจองไว้แล้วโดย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
  3. พรรคประชาธิปัตย์อยากให้พรรคพลังประชารัฐ ยืนยันเก้าอี้รัฐมนตรีที่ให้ไป ก่อนการประชุมสภาฯยังเหมือนเดิมหรือไม่ แต่พรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถยืนยันให้ได้ เพราะยังตกลงกับกลุ่มสามมิตรไม่ได้
  4. เก้าอี้รัฐมนตรีที่พรรคพลังประชารัฐยกให้พรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้มี 1 รองนายกรัฐมนตรี  3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และอีก 4 รัฐมนตรีช่วย ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ
  5. การไปเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลของหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย “กลุ่มสามมิตร” แม้แต่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ยังไม่มารับเพราะการเจรจาไม่ลงตัว
  6. เมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่ยืนยันในสิ่งที่เจรจาไว้ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรค

เกมจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่ายอย่างที่คิด วันที่เจรจาดึงเข้าพรรค กับวันที่เข้ามาแล้ว และเป็นส.ส.แล้ว มันคนละอาการ เด็กดื้อ เด็กเกเร เด็กงอแง เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย แต่สัญญาต้องเป็นสัญญา วันนี้คนสัญญาคนหนึ่ง ผู้จัดการรัฐบาลก็อีกคนหนึ่ง มันจึงเริ่มเข้าสู่โหมดประลองกำลังกันแบบไม่รู้ตัว

สิ่งที่น่าติดตามต้องดูว่า พรรคพลังประชารัฐอาจต้องเข้าสู่โหมดว่าจะยอมตัดทิ้ง “กลุ่มสามมิตร” หรือจะเริ่มต้นเจรจาใหม่ แต่เท่าที่ประเมินจากสถานการณ์ดูเหมือนพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ในสภาพ “รักพี่ เสียดายน้อง” คงจะต้องหันกลับมาเจรจาทั้ง กลุ่มสามมิตร และ พรรคประชาธิปัตย์ใหม่ ส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ จะตกเป็นของกลุ่มไหนอย่ากระพริบตาเชียว

“ใครจะฟังเหตุผลใคร หรือไม่น่าคิด  ที่แน่ๆถ้าไม่ฟังกลุ่มสามมิตรเลย มันคงจบไปแล้วครับนาย!! ฉะนั้นตอนนี้ต้องติดตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน “

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน 4

มีคำถามอีกทำไม “กลุ่มสามมิตร” เกี่ยงงอนต้องการแต่กระทรวงเกษตรฯ อาจเป็นเพราะไปสัญญาประชาคมกับชาวบ้านเมื่อหาเสียงไว้แล้วก็เป็นได้ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เมื่อครั้งเลือกตั้งเมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทยสมัยนั้น สัญญาตอนหาเสียงว่า จะให้“สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อยกเก้าอี้รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ ให้กับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ไป มารอบนี้กำลังจะมีอาการ “ถูกหลอก” อีกครั้ง

ฉะนั้นอาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า “จำฝังใจ” อยู่ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้กลุ่มสามมิตร จำต้องอยู่ในสภาพ“สู้โว้ย” จะเอากระทรวงไหนมาแลกก็ไม่ยอม

ถามว่าถ้ายังอยู่ในสภาพอย่างนี้ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะเลือกเดินแนวทางไหน บ้างก็บอกว่าอาจต้องใช้สูตรแบบโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อน บ้างก็บอก ต้องจัดการตั้งรัฐบาลให้เสร็จก่อน ไม่ฉะนั้นวันข้างหน้าจะตกอยู่ในสภาพรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ ตายกับตาย” ดังนั้นระหว่างนี้ ผู้จัดการรัฐบาล ต้องหาทางลงให้สวยงามกว่านี้

ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มสามมิตร” หรือใครก็ตาม ย่อมมองออกว่าหากจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้ พรุ่งนี้ ยังไงก็ผ่านโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ชื่อลุงตู่  เพราะเขามีเสียงตุนอยู่ในกระเป๋าจากสว.ถึง 250 เสียง จะกลัวทำไม แต่หลังจากเข้ามาบริหารประเทศจะตกม้าตายตอนไหนอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งหมดคือปมปัญหาที่สร้างขึ้นมา จะด้วยน้ำมือของใครก็ว่าไป

แต่ที่แน่ๆ สถานการณ์จากนี้ไปต้องติดตามแบบนาทีต่อนาที วันต่อวัน แล้วเราจะเห็นว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ จะมีพรรคไหนรวมกับใครอย่างไร พรรคไหนถูกเท งูเห่าจะมีมากน้อยอย่างไรเป็นเรื่องน่าติดตาม

สำคัญที่สุดใครคือ คู่แข่งชิงนายกรัฐมนตรีกับลุงตู่!! 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight