COLUMNISTS

‘ชวน-จุรินทร์-อภิสิทธิ์’ ตั้งใจหรือบังเอิญ

Avatar photo
14251

เห็นแกนนำสำคัญของพรรคพลังประชารัฐอย่าง อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค สมศักดิ์ เทพสุทิน  สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กรรมการบริหารพรรค ยกโขยงเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ธนา ชีรวินิจ รองเลขาธิการพรรค นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้า อัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรค ให้การต้อนรับ

 

ขันหมาก4

การเทียบเชิญร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายดูยิ้มแย้มเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว  สิ่งที่ผู้คนสงสัยกันมาก ทำไมการเทียบเชิญครั้งนี้ ถึงไม่มี ชวน หลีกภัย ว่าที่ประธานสภาฯ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ทั้งสามคนถือเป็นแกนนำสำคัญของประชาธิปัตย์ แม้จะเหลียวซ้ายแลขวา ยังไงก็ไร้เงาแกนนำสำคัญ น่าคิดหนักเมื่อมีผู้คนยืนยันว่า ชวน หลีกภัย อยู่ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับไม่ลงมาต้อนรับ

ต่างจากการเทียบเชิญพรรคภูมิใจไทย ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และสมาชิกส.ส.อีกหลายคนให้การต้อนรับ ภาพที่ปรากฎ ดูมันช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

สิ่งที่ปรากฎการเทียบเชิญของสองพรรคการเมืองครั้งนี้ ยังไร้คำตอบที่ชัดเจน ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างไร ยังมีอาการขอเวลา ก่อนจะให้คำตอบ จะบอกว่า“แทงกั๊ก” ก็ไม่ผิด แต่จุดจบพรรคภูมิใจไทยน่าจะได้คำตอบที่ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์

อนุทิน77777

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ คำถามที่เกิดขึ้นทำไมแกนนำสำคัญทั้ง 3 คน ถึงไม่ยอมปรากฎตัวต้อนรับการเทียบเชิญ หรือกลัวว่าจะเป็นข้อผูกมัดการเข้าร่วมรัฐบาล ท่ามกลางเสียงอึมครึมในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมรัฐบาล จนกลายเป็นปัญหาหนักอกในพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้

การไม่ปรากฎตัวของแกนนำทั้ง 3 คน น่าจะเป็นปรากฎการณ์สะท้อนอะไรบางอย่าง ต่อการเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือเป็นเพราะ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไปใน 2 เงื่อนไขใหญ่ นั่นคือ การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ และ การขอให้นำนโยบายเศรษฐกิจของพรรคไปใช้ ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่แกนนำประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญหน้ากับการเทียบเชิญหรือไม่

หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า การที่ ชวน หลีกภัย โหวตชนะตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่ได้หมายความว่า จะมีข้อผูกมัดกับการจัดตั้งรัฐบาลแต่อย่างใด ที่สำคัญจุดที่จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ การประชุมหารือในคณะกรรมการบริหารพรรคและการประชุมส.ส. ซึ่งยังไปไม่ถึงขั้นมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะ“ร่วมรัฐบาล” เวลานี้

การไม่ปรากฎ 3 แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งตอกย้ำการนิ่งเฉย ที่ส่งสัญญาณไปยังพรรคพลังประชารัฐ ว่าทุกอย่าง“ยังไม่ง่าย”อย่างที่คิด ยิ่งพลังประชารัฐเงียบเฉยกับ 2 เงื่อนไขเท่าไหร่ อาการแตะถ่วงยิ่งชัดเจน การเทียบเชิญยังไม่สามารถเริ่มนับหนึ่งได้ แม้จะมีคนที่พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนกระสันอยากจะร่วมรัฐบาลอยู่ก็ตาม

อภิสิทธิ์1

จริงๆ 2 เงื่อนไขที่เสนอไปหากได้รับการตอบรับที่ดี อาจจะเป็นบันไดเชื่อมทางลงให้กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่ได้รับการเหลียวแลกับเงื่อนไข โอกาส“หม้ายขันหมาก”มีสูง ถึงวันนั้นพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ก็ต้องปล่อยไป เพราะในสถานการณ์ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วม ก็จะมีทั้ง“คนเชียร์และคนด่า” ซึ่งเป็นภาวะ“หนามยอกอก”อยู่

ที่สำคัญอาจถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ ต้องตัดสินใจอีกครั้งก็ได้ว่าจะร่วมรัฐบาลต่อไป หรือกล้าพอที่จะเป็นร่วมกับพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ หรือเลือกทางเดินแบบฝ่ายค้านอิสระ อย่าเสียเวลากับ“เหยียบเรือสองแคม”!!

ฉะนั้นเกมการโหวตนายกรัฐมนตรี มีพรรคพลังประชารัฐ กำลังเดินสายขอเสียงสนับสนุนอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ระหว่างทางอาจจะมีอะไรเกิดขึ้น จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น นายกรัฐมนตรีคนต่อไปใช่ “ลุงตู่”หรือไม่

เกมการเมืองนับจากนี้ น้ำหนักจะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนจะเป็นเกมการต่อรองที่นั่ง หรือเกมต่อรองให้ยอมรับการแก้รัฐธรรมนูญ  สิ่งที่คนในพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งยังเคลือบแคลง เพราะรู้สึกว่าประเทศไทยกำลังจะมี นายกรัฐมนตรีแบบวิธีพิเศษ นั่นเอง…