General

‘อภัยภูเบศร’ เดินหน้าวิจัยยาไมเกรนจากกัญชา 6 เดือนรู้ผล

ตอนนี้ไม่มีพืชอะไรร้อนแรงเท่า “กัญชา” อีกแล้ว ขณะที่กระบวนการนำ “ของใต้ดิน” ขึ้นมาบนดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศนิรโทษครอบครองกัญชา ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. การศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ผลทางวิทยาศาสตร์ในการนำกัญชาที่มีสรรพคุณรักษาโรคมากมาย ก็เดินหน้าตามไปด้วยเช่นกัน ให้ยาที่ผลิตจากกัญชามีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงได้ภายใต้การดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถาบันที่ทำหน้าที่คิดค้นวิจัยยาที่ผลิตจากสมุนไพรไทยมากมาย ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และให้การรักษาประชาชนด้วยสมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักอย่างดี เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีบทบาทในการพัฒนายาจาก “กัญชา”ในเวลานี้

IMG 20190422 170345 1
ผกากรอง ขวัญข้าว

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า กัญชาถูกนำมาใช้เป็นยาตั้งแต่อดีตกาล มีหลักฐานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อกัญชาถูกจัดไปอยู่ในบัญชียาเสพติด จึงทำให้การคิดค้นพัฒนาขาดช่วงไป

ต่อมาการที่กัญชากลายเป็นความหวังของผู้ป่วยหลายโรค ที่ยาหลักไม่สามารถรักษาได้ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วในต่างประเทศ ขณะที่ในไทย “กัญชา” ก็ถูกใช้ในการรักษาแบบพื้นบ้าน เพื่อรักษาโรคในรูปน้ำมันกัญชาหลายปีมาแล้ว

เห็นอย่างนั้น 4-5 ปีก่อน อภัยภูเบศรจึงเริ่มตั้งต้น ที่จะศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อนำกัญชา ซึ่งเป็นอีกชนิดพืชที่มีคุณค่าของไทยมาผลิตเป็นยาตามความถนัดของเรา โดยสิ่งที่อภัยภูเบศรกำลังพุ่งเป้าไปในระยะแรก ก็คือการนำกัญชามาผลิตเป็นยารักษา “ ไมเกรน ” ที่คนไทยเป็นกันมาก และกินยาแผนปัจจุบันมักจะไม่ค่อยหาย

โดยกำลังทำงานกับทีมของอาจารย์เดชา ศิริภัทร ซึ่งเราเห็นการนำกัญชามารักษาโรคต่างๆของอาจารย์ได้ผลดี โดยเฉพาะไมเกรน เพื่อให้อาจารย์ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตยารักษา “ไมเกรน” คาดว่าการวิจัยจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ จากนั้นจะเข้าหารือกับอย. เพื่อเดินหน้ากระบวนการขึ้นทะเบียนยาต่อไป

ขณะเดียวกันในเรื่องการปลูกกัญชา เรากำลังเริ่มจากแปลงวิจัยเล็กๆก่อน เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบ ก่อนจะขยายผล อย่างไรก็ตามยืนยันว่าปลูกกัญชา ต้องปลอดจากยาฆ่าแมลงทั้งปวง เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่ปลอดภัยมารักษาโรค ดร.ภญ.ผกากรอง ย้ำว่า “ต้นกัญชา” ดูดโลหะหนักได้ดีมาก ดังนั้นหากปลูกโดยใช้สารเคมี ยาที่ได้ก็เต็มไปด้วยสารเคมี “ไม่มีประโยชน์” 

ทำไมถึงสนใจผลิต “ยาไมเกรน” จากกัญชา  เธอ ให้คำตอบว่า  ยาแผนปัจจุบันที่รักษาไมเกรน มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก บางคนเกิดอาการเส้นเลือดแข็งตัว และเลือดไปเลี้ยงไม่ดี เกิดภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือด บางส่วนก็ไม่ตอบสนองต่อยา กินไม่หาย ต้องเพิ่มขนาดยา เพิ่มยาไปมาก็มาจบที่การให้ผู้ป่วยกินยานอนหลับ กินไปนานวัน ก็จะมีสภาวะนอนไม่หลับได้ในที่สุด

hemp plant 3661210 640

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 โครงการวิจัยที่เดินไปคู่ขนานกัน ก็คือ การทำวิจัยในคนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยแผนปัจจุบัน ทำงานร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรังสิต  อีกโครงการเป็นการศึกษาสายพันธุ์กัญชาที่มีทั้งหมดในประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อให้รู้ว่าสายพันธุ์ไหนดี และไม่ดี

“กัญชามีสารสกัดเคมีในพืชอยู่มากกว่า 700 ชนิด ออกฤทธิ 100 กว่าชนิด อีก 600 ชนิดยังไม่มีการศึกษา ไม่รู้ว่ามีฤทธิ์หรือไม่ และแต่ละคนก็ตอบสนองต่อยาไม่เท่ากัน  และสัดส่วนเท่าไหร่รักษาได้อย่างปลอดภัยได้ผล และไม่รู้ว่ากัญชามีกี่สายพันธุ์ ประเทศไทยมีกี่สายพันธุ์ เหล่านี้เราต้องทะยอยหาคำตอบทั้งหมด ”

เป้าหมายจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ดร.ภญ.ผกากรอง ย้ำว่า เราต้องการผลิตยากัญชาที่มีคุณภาพ สามารถขายในท้องตลาดได้ ด้ราคาที่คนไข้จ่ายได้ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายประชาชนก็ต้องไปซื้อของใต้ดินที่กำลังขายกันเกลื่อนทางออนไลน์ ราคาตั้งแต่ 500-15,000 ต่อ 10 ซีซี  จึงขอเตือนประชาชนต้องระมัดระวัง ไม่ซื้อหามาใช้กันเอง

นอกจากนี้ยังมีแนวทาที่จะศึกษาวิจัยนำกัญชามาผลิตเป็นยารักษาโรค “พาร์กินสัน”  ร่วมกับตำรับยาที่เราวิจัยอยู่ ซึ่งทำจาก “หมามุ่ย”  ซึ่งพบว่าได้ผลดีระดับหนึ่งแล้ว ทำให้อาการสั่นน้อยลง ไม่มีผลข้างเคียง จึงคิดว่าหากมีกัญชามาร่วมการรักษาด้วยน่าจะได้ผลดี เพราะในต่างประเทศ ก็มีการนำกัญชามารักษาคนไข้พาร์กินสันแล้ว เพราะช่วยให้คนไข้หลับดี พยาธิสภาพก็ดีขึ้น เพราะเวลาหลับจะเอาของเสียออกได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามในแต่ละวันมีผลงานวิจัยจากต่างประเทศออกมาทุกวัน ซึ่งเราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ ดร.ภญ.ผกากรอง เป็นห่วงมากก็คือ กัญชา ถูกสื่อสารจนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็น “ยาวิเศษ”  รักษาได้ทุกโรค เราจึงจะมีส่วนร่วมในการให้ความรู้กับประชาชนให้มากขึ้น โดยยืนยันอีกเสียงว่า ในต่างประเทศ รวมถึงหมอแผนไทยเอง ไม่ได้ใช้กัญชาเป็นยาตัวแรก แต่จะใช้เมื่อยาตัวอื่นรักษาไม่ได้ผล เพราะกัญชามีผลข้างเคียง มีผลต่อจิตประสาท ซึ่งในต่างประเทศรู้กันดี จากกรณีคนไข้กินกัญชา ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เพราะทำให้ง่วง

“อย่าลืมว่า ในกัญชามีสารสำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ  THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารเสพติด และ CBD (Cannabidiol) เป็นสารสกัดที่ออกมาแล้วเกิดประโยชน์ทางการแพทย์ สามารถนำมารักษาต่างๆได้” 

ดังนั้นคำว่า “เสรี”  ไม่ได้หมายถึงใครทำอะไรก็ได้ ต้องมีระบบ และการควบคุมการใช้ โดยเห็นว่าถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องหารืออย่างจริงจัง และวางโรดแมพของประเทศเรื่องกัญชาบนฐานของการพึ่งพาตนเองด้านยา และให้เศรษฐกิจไทยเติบโต  กำหนดเส้นทางเดินให้สอดรับสมดุลระหว่างผลทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ พร้อมกับการส่งเสริมนวัตกรรม

ทั้งนี้เพื่อให้เส้นทางเดินของหน่วยงานและองค์กรต่างๆไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จากทุกวันนี้ที่ต่างคนต่างทำ และไม่รู้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมมหาวิทยาลัยต่างๆร่วมกันศึกษาวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ ให้มุ่งค้นคว้าโซนภาคเหนือ มหาวิทยาลัยทางภาคใต้ก็ทำไปในโซนภาคใต้ และนำงานมาประกบกัน จึงจะทำให้การคิดค้นวิจัยและพัฒนายาจากกัญชาของไทยไปได้เร็ว และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ

ส่วนการปลูกกัญชา จำเป็นต้องวางระบบให้ส่งตรงถึงโรงงานผลิตยาของประเทศ โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ ที่สำคัญคนไทยต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพราะวันหนึ่งทุกคนจะต้องได้ใช้ ยาที่มีกัญชาเป็นวัตถุดิบอย่างแน่นอน 

และในโรดแมพควรต้องวางกลไกการนำไปใช้ของ  “กัญชง” สายพันธ์ุหนึ่งของกัญชาด้วย ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าโทษ มีสาร CBD โดยไม่มี THC และยังมีมีน้ำมันโอเมก้า 3 ให้ประโยชน์สูง ซึ่งควรจะต้องเดินหน้าผลิตเป็นยาได้เลย

ดร.ภญ.ผกากรอง ย้ำว่า หลังจากนิรโทษกรรมแล้ว จะทำอย่างไรต่อไปต้องสื่อสารออกมาให้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันตรวจสอบแล็บต่างๆ เพื่อไม่ให้ ยาจากกัญชา ตกไปอยู่ในมือของต่างชาติ ที่กำลังพยายามเข้ามาแสวงหาประโยชน์ทางการค้า เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นความมั่นคงทางยา และเป็นปัจจัยที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในวันข้างหน้าอีกด้วย

โดยต้องเข้าใจว่า หลังจากที่เราใช้ปลดล็อกทางการแพทย์แล้ว ไทยยังมีโอกาสนำยาต่างๆออกไปจำหน่ายในตลาดอาเซียนอีกด้วย เนื่องจากเรามีความพร้อมของวัตถุดิบกัญชาสูงมาก จากการมีสภาพพื้นที่ และภูมิอากาศที่เหมาะกับการปลูก ขณะเดียวกันก็มีกัญชาสายพันธุ์ดั้งเดิมอีกมาก ที่ยังไม่ได้รวบรวม แต่เป็นไปได้ว่าจะมีสารสำคัญสูง

“ตอนนี้เราต้องผนึกกำลังกันของทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยผลิตยาจากกัญชาอย่างจริงจัง และต้องทำให้ทุกอย่างเกิดประโยชน์กับคนไข้ ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กินได้นอนหลับ มีแรงต่อสู้กับโรคร้ายได้ เกิดประโยชน์กับคนไทยในภาพรวม และเศรษฐกิจของประเทศ  และเราไม่ต้องทำเหมือนประเทศอื่น  ต้องหาจุดตัดของเราเอง “

ที่สำคัญคนไทยต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคที่ตนเองเป็นอยู่ และมีความรู้ในการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคร้ายอย่างมะเร็ง เช่น ต้องรู้ว่าควรระวังเรื่องการกินอาหาร แม้แต่ผัก ไม่ใช่ว่าเราจะกินผักแล้วจะดีเสมอไป  การปลูกผักใช้สารเคมีสูงมาก หลายประเทศ จึงให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งหมด และหันมากินผักปลอดสารและผักตามฤดูกาล

“กัญชา เป็นพืชที่ยืนยันกับเราได้เลยว่า ทำไมต้องเป็นกัญชาที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี จึงจะนำมาผลิตเป็นยาได้ เพื่อให้ยาที่ผลิตจากกัญชานั้น รักษาโรคได้อย่างแท้จริง เหมือนกับพืชผักที่เรากิน ก็ต้องมั่นใจในถึงความปลอดภัย เพื่อให้อาหารที่เรากินเป็นยารักษามากกว่า ที่จะมาทำร้ายเรา” 

Avatar photo