Economics

ไอเคโอไฟเขียว ‘มาตรฐานการบิน’ ของไทยได้ระดับสากล

ผลตรวจของไอเคโอพบ “มาตรฐานการบิน” ของประเทศไทยได้ระดับสากลแล้ว กพท. ชี้ 4 ปีที่ผ่านมาคะแนนประเทศไทยพุ่งขึ้น 2 เท่า จาก 34.20% เป็น 65.07%

fig 03 05 2019 06 29 09

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)  เปิดเผยว่า หลังจาก กพท.ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องด้านมาตรฐานการบินที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) จำนวน 33 ข้อได้สำเร็จ และปลดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ได้เมื่อปี 2560

กพท. ก็ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ไม่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยจำนวน 463 ข้อ ที่เหลืออย่างต่อเนื่อง จนไอเคโอได้ยอมรับความก้าวหน้าและเข้ามาตรวจสอบยืนยันอย่างเต็มรูปแบบ (Full ICAO Coordinated Validation Mission หรือ Full ICVM)  ในระหว่างวันที่ 13-22 พฤษภาคม 2562 โดยดำเนินการตรวจสอบ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านกฎหมายและระเบียบ  ด้านการจัดการองค์กรกำกับดูแล ด้านการออกใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ ด้านการปฏิบัติการบิน ด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน ด้านบริการการเดินอากาศ และด้านสนามบิน

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของคณะผู้ตรวจสอบ Full ICVM พบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐานไอเคโอมาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 65.07% สูงกว่าค่ามาตรฐานที่ไอเคโอกำหนดคือ 60%

fig 09 04 2019 15 06 50

ผลการตรวจสอบครั้งนี้ สามารถชี้ชัดว่าในระยะเวลาเกือบ 4 ปี นับแต่วันที่ประเทศไทยได้รับธงแดงเมื่อปี 2558 ระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐานไอเคโอมาบังคับในประเทศได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวจาก 34.20% เมื่อได้รับธงแดง เป็น 41.46% ในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน และเป็น 65.07% ในอีก 1 ปี 7 เดือนต่อมา ซึ่งถือได้ว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านการบินของไทยทัดเทียมกับมาตรฐานเฉลี่ยของประเทศสมาชิกไอเคโอรวม 194 ประเทศแล้ว

“ระดับประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยืนยันถึงความสำเร็จของการแก้ปัญหาด้านการบินพลเรือนอย่างจริงจังและเป็นระบบ ตลอดจนการสนับสนุนในด้านนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดย กพท. ยังคงเดินหน้าสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการบินของไทยและเพิ่มระดับประสิทธิผลดังกล่าวต่อไป ให้มาตรฐานของไทย เป็นที่ยอมรับแก่ทุกชาติ”

 

Avatar photo