Business

สะพัด!ส่ง ‘บุญทักษ์’ สอบปล่อยกู้3โปรเจคยักษ์ ‘SCB’

SCB

สะพัด! แบงก์ชาติตัวกลางแนะนำส่ง “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานสอบแบงก์ไทยพาณิชย์ ปล่อยสินเชื่อ 3 โครงการยักษ์กว่า 6 หมื่นล้าน  ขณะการปล่อยสินเชื่อให้ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” กำลังเป็นที่จับตามองอย่างหนักหลังศาลฮ่องกงมีคำสั่งห้าม “โกลเด้น มิวสิค” โอนหุ้น “วินด์ เอนเนอร์ยี่”

การปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วงที่ผ่านมากำลังเป็นที่จับตามองว่า ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร แผนการชำระหนี้ของผู้กู้มีความสามารถแค่ไหน  โครงการที่ให้สินเชื่อไปแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ กลายเป็นเรื่องที่มีการพูดกันมาในวงการ

ส่ง “บุญทักษ์” ประธานสอบปล่อยกู้

ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงการธนาคาร กล่าวว่า เมื่อช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เป็นตัวกลางแนะนำเสนอให้ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)  เข้าไปเป็นประธานตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์ ใน 3 โครงการใหญ่ช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย

จับตาสินเชื่อ 3 โครงการใหญ่

1.การปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI เมื่อหลายปีก่อน ในการซื้อโรงงานถลุงเหล็กต้นนํ้า (ทีซีพี)ในอังกฤษ จากกลุ่มทาทาสตีลของอินเดียวงเงิน 22,000 ล้านบาท เมื่อหลายปีก่อน แต่หลังการเข้าซื้อกิจการ ทิศทางตลาดเหล็กโลกพลิกผัน ความต้องการใช้เหล็กลดลง ส่งผลให้บริษัทแม่ เอสเอสไอ มีตัวเลขขาดทุนสะสมถึง 3.9 หมื่นล้านบาท และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ (แบงก์เจ้าหนี้) ได้ตามกำหนด

2.การปล่อยกู้ให้กับ บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ซึ่ง SCB ถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของ PACE วงเงินรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยปล่อยกู้เพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 6 พันล้านบาท ปล่อยกู้เพื่อซื้อ DEAN & DELUCA ประมาณ 4,000 ล้านบาท และปล่อยเงินกู้เพิ่มประมาณ 3,000 ล้านบาทเพื่อมาชำระปิดแผลตั๋ว B/E

อย่างไรก็ตาม เพซ ได้มีการทยอยคืนหนี้บางส่วนแล้ว หลังจากที่ขายโครงการมหานครให้กับคิงพาวเวอร์

วินด์ เอนเนอร์ยี่ รายเดียวกู้ 3.7 หมื่นล้าน

3.การปล่อยกู้เป็นสถาบันการเงินหลัก (Mandated Lead Arranger) ในการสนับสนุนสินเชื่อจำนวน 37,000 ล้านบาท แก่ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานลม

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) เป็นหนึ่งในบริษัทด้านพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตจนเป็นที่จับตาของแวดวงพลังงานทดแทน โดยมีสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้ารวมกันทั้งหมด 270 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมีโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทกำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 5 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีลมแรง ซึ่ง WEH ครองสัดส่วนใหญ่ของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน และมากกว่า 40 % ของโควตาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ

 จับตายื่นไฟลิ่งดันบริษัทเข้าตลาด 

เดิมทีตามแผนธุรกิจ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” มีแผนจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ราวเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อรอการสรุปงบการเงินปี 2560 โดยหวังว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ได้ภายในกลางปี 2562 ซึ่งบริษัทมีวัตถุประสงค์จะระดมทุน มาใช้ในการขยายธุรกิจ ดังนั้นหากมีการยื่นไฟลิ่งกลต.ก็คงจะคิดหนัก

ปัจจุบัน WEH มีทุนจดทะเบียน 1,080 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 108 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยปัจจุบันโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วทั้งหมด 267 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าห้วยบง 1 และ 2 โครงการ ละ 103.5 เมกะวัตต์ ซึ่ง WEH ถือหุ้นแห่งละ45% และโครงการวะตะแบกขนาด 60เมกะวัตต์ WEH ถือหุ้น 75%

ประหลาดใจแบงก์ชาติตัวกลาง

แหล่งข่าว ระบุว่าให้สินเชื่อของทั้ง 3 โครงการกำลังเป็นที่จับตามองเพราะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทเอง

“ที่ประหลาดใจมากก็คือแบงก์ชาติเข้ามาเป็นตัวกลางแนะนำผู้ที่เป็นประธานตรวจสอบให้ ซึ่งอาจจะมีอะไรที่กำลังจะเป็นปัญหาก็ได้ ดังนั้นการตรวจสอบของนายบุญทักษ์ คงต้องตรวจสอบตั้งแต่การให้สินเชื่อรวมไปถึงแผนการชำระหนี้ด้วย เพราะ 3 โครงการนี้ เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากสำหรับแบงก์ไทยพาณิชย์” แหล่งข่าว ระบุ

ในส่วนของ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ ก็จะยิ่งเป็นปัญหาหนัก หลังจากเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ศาลสูงของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงได้มีคำสั่งห้าม  บริษัท โกลเด้น มิวสิค ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทฮ่องกง จำหน่ายจ่ายโอนหุ้น บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (วินด์ เอนเนอร์ยี่) จำนวน 41,216,398 หุ้น ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight