Business

เบื้องหลัง ‘เซ็นทรัล’ถอนตัวชิง Duty Free – 3 รายยื่นด้านเทคนิควันนี้

ชัดเจนแล้วสำหรับการยื่นซองประมูลงานให้สิทธิ์ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) สนามบินสุวรรณภูมิ จบลงที่เอกชน  3 กลุ่ม

1. บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA พร้อมด้วยบริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีจากประเทศเกาหลีใต้ และบริษัท บางกอกแอร์เวย์ส โฮลดิ้ง จำกัด
3. บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH พร้อมด้วยบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ที่มีฐานในประเทศอังกฤษ

จากผู้ซื้อเอกสารการประมูล (TOR) ทั้งหมด 5 กลุ่ม

ส่วน 2 กลุ่มที่ไม่ยื่นซองประมูลคือ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีในสนามบินชางฮี ประเทศสิงคโปร์ และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

ดิวตี้ฟรี สุวรรณภูมิ สนามบิน 1

สำหรับการประมูล Duty Free รอบนี้ มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะผู้เข้าประมูลดูจากรูปทรงแล้วไม่ธรรมดาทั้ง 3 กลุ่ม เดิมทีคาดการณ์ว่าจะมีกลุ่มบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เข้าร่วม น่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญอีกรายหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ได้ถอนตัวออกไปท่ามกลางความสงสัยทำไมถึงไม่เข้าร่วม

กระฉ่อน! “เซ็นทรัล”ถูกฉกพันธมิตร

การไม่เข้าร่วมประมูลของกลุ่มเซ็นทรัล ในส่วนของ Duty Free แหล่งข่าวจากผู้เข้าร่วมประมูล กล่าวว่าจับคู่กับพันธมิตรดิวตี้ฟรีรายใหญ่ไม่ได้ เดิมทีดิวตี้ฟรีรายใหญ่ที่สุดในโลก รับปากว่าจะร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล แต่ได้กลับหลังหันเอานาทีสุดท้าย โดยหันไปจับมือกับกลุ่มรอยัลออคิด แทน

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เซ็นทรัล ต้องไปจับมือกับ บริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีในสนามบินชางฮี และคิดว่าน่าจะเป็นพันธมิตรที่เข้าร่วมประมูล Duty Free ได้  แต่ในที่สุดเมื่อถึงวันยื่นซองเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล จำต้องถอนตัวไปแบบดื้อๆ

เป็นที่ร่ำลือกันในบรรดาผู้เข้าประมูล ว่ามีการเปลี่ยนพันธมิตรต่างชาติแบบกระทันหันของกลุ่มเซ็นทรัล เดิมมีการเจรจาที่จะดึงเอาพันธมิตร อย่าง WDFG UK LIMITED ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ที่มีฐานในประเทศอังกฤษเข้าร่วม

แต่อยู่ๆพันธมิตรอย่าง WDFG UK LIMITED กลับไปโผล่ที่กลุ่ม ROH ตามข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า ROH มี วิชัย ทองแตง เป็นประธานกรรมการ นายพิจิตต รัตตกุล รองประธานกรรมการ นายวิทวัส วิภากุล กรรมการผู้จัดการ ส่วนกรรมการมีหลายคน หนึ่งในนั้นมีนายชายนิด อรรถญาณสกุล ร่วมอยู่ด้วย

ROH ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ถืออยู่ 98.48% ภายใต้กลุ่ม ROH  ก็มีบริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด  และ WDFG UK LIMITED ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ที่มีฐานในประเทศอังกฤษ กลุ่มนี้ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่า ล็อตเต้ ใหญ่กว่า บริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด

“เสี่ยไพโรจน์” ตัวกลางดึง WDFG UK LIMITED

กลุ่มของ วิชัย ทองแตง มีบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ของ นายชายนิด อรรถญาณสกุล ไปดึงเอา”เสี่ยไพโรจน์” เข้าร่วม พูดกันหนาหูมากว่า“เสี่ยไพโรจน์” เป็นผู้ชักนำและไปดึงเอา WDFG UK LIMITED ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรี ที่มีฐานในอังกฤษเข้ามาร่วมกลุ่มนี้ เหตุผลง่ายๆ เพราะ“เสี่ยไพโรจน์”อยู่อังกฤษมาหลายสิบปี  มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มนี้

เดิมทีกลุ่ม WDFG UK LIMITED จะเข้าร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัล แต่อยู่ๆก็เปลี่ยนใจจนเกือบนาทีสุดท้าย หันไปร่วมจับมือกับพันธมิตรกลุ่ม ROH ทำให้กลุ่มเซ็นทรัล  ต้องหันไปจับมือกับ บริษัท ดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีในสนามบินชางฮี แต่สุดท้ายดูเหมือนจะมีบางอย่างไม่ลงตัว หากยังยึดที่จะยื่นประมูล Duty Free อาจจะเป็นปัญหาได้ ที่สำคัญเซ็นทรัลเองก็ไม่มีความถนัดงานด้าน Duty Free โอกาสชนะแทบไม่มี จึงต้องถอนตัวออกจากการประมูลส่วนนี้ แต่จะหันไปสู้ในส่วนงานประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิแทน

ดิวตี้ฟรี 1

ส่วนกลุ่มที่เหลืองานประมูล Duty Free  เชื่อว่าทุกบริษัทเอาจริง  ทางด้านเทคนิคทุกรายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะดูจากประสบการณ์การบริหาร Duty Free ที่ผ่านมาโดยเฉพาะรายเดิมอย่าง “คิงเพาเวอร์” ในฐานะบริษัทไทยแท้ 100% เพียงรายเดียว ที่เข้าแข่งขันรอบนี้ น่าจะสะสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญงานบริหาร Duty Free  เป็นอย่างดี ประกอบกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของ “คิงเพาเวอร์” ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาทั้งนักช้อปที่เป็นทั้งชาวไทยและต่างชาติแล้วว่าเป็นอย่างไร

ขณะที่อีก 2 กลุ่มกลับไป“หอบหิ้ว”พันธมิตรต่างชาติเข้าร่วม ทั้งหมดคงอยู่ที่ผลการพิจารณาของทอท.ทั้งด้านเทคนิค และการเสนอผลตอบแทนให้กับรัฐเป็นอย่างไร

เปิดทีโออาร์ด้าน “เทคนิค” ชิง Duty Free

สาระสำคัญอยู่ที่ข้อเสนอด้านเทคนิคและผลตอบแทนรัฐ ตามทีโออาร์ แบ่งสัดส่วนคะแนนออกเป็น 4 ส่วน

1. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจที่ผ่านมา โครงสร้างองค์กร และแผนการพัฒนาบุคลากร งบการเงินที่ผ่านการรับรอง หรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีฉบับล่าสุด  15 คะแนน

2. แผนการดำเนินงาน  แนวคิดหลักการบริหารจัดการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร การออกแบบตกแต่งสถานที่ และระยะเวลาการดำเนินงาน แผนการจัดร้านค้าและบริการ รวมถึงแผนการตลาด  40 คะแนน

3. แผนธุรกิจ ต้องมีประมาณการรายได้ของผู้ยื่นข้อเสนอ และประมาณการกำไรขาดทุน ประมาณการงบดุลและงบลงทุน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ความสามารถในการระดมทุน การชำระหนี้ และ D/E ratio มี 25 คะแนน

4. ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ที่เสนอให้ ทอท. มี 20 คะแนน

fig 08 05 2019 10 35 24

วันนี้ (27พ.ค.) ทั้ง 3 ราย ต้องเสนอด้านเทคนิคโดยเรียงลำดับจากการซื้อทีโออาร์ เริ่มที่ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด  ต่อด้วยกลุ่ม BA ปิดท้ายกลุ่ม ROH  จากนั้น วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 จะเปิดซองค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุดของการประมูล Duty Free สนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 9.30 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2562 รู้ผลว่าใครคว้า Duty Free สุวรรณภูมิไปครอง

“ด้านเทคนิคคิดเป็นคะแนนถ่วงน้ำหนัก 80% ด้านราคาคิดเป็น 20% สาเหตุที่ให้คะแนนด้านเทคนิคมากกว่า เพราะต้องการสร้างความมั่นใจว่าเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้จริงๆ” นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ระบุ

เตือนกลุ่มแพ้ประมูลอย่า ‘ตีรวน’

การประมูล Duty Free รอบนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร สิ่งสำคัญผู้ท้าชิงทุกรายต้องยอมรับกฎกติกา การแข่งขัน แพ้ก็ต้องแพ้ ไม่ใช่แพ้แล้วไม่ยอม คอยอาศัยจังหวะเดินสายร้องเรียน เพื่อหวังผลล้มการประมูล หรือแตะถ่วง กลั่นแกล้งคู่แข่ง อ้างโน้นอ้างนี่ หวังว่าการประมูลครั้งนี้ จะไม่มีนักธุรกิจอันธพาลเกิดขึ้น เหมือนที่ผ่านๆมา 

เช่นเดียวกับรัฐบาลต้องยึดมั่นในการประมูล ไม่ใช่อ่อนไหวตามการร้องเรียนของกลุ่มที่ไม่สมหวัง หรือสมคบกับพวกประเภทขี้แพ้ตีรวน!! 

“ไมเนอร์” แถลงวันนี้ไม่พอใจผลตัดสิน

เช่นเดียวกับการประมูลในส่วนของงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ   มีผู้ยื่นประมูล 3 ราย ประกอบด้วยบริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

ที่ผ่านมา ทอท.เห็นชอบให้ คิงเพาเวอร์ และ CPN ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ แต่ตัดสินให้ MINT ตกคุณสมบัติ เนื่องจาก MINT นำประสบการณ์ของบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด โฮลดิ้ง ที่เป็นบริษัทลูก มาเป็นคุณสมบัติในการประมูล ผิดทีโออาร์ข้อที่ 3.5

สุวรรณภูมิ 2

ทั้ง CPN และคิงเพาเวอร์  จะเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอด้านเทคนิควันที่ 29 พฤษภาคมนี้  ก่อนที่จะเปิดซองผลตอบแทนวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ใครแพ้หรือชนะรู้กัน วันที่ 19 มิถุนายน 2562

แต่ที่แน่ๆตอนนี้ดูเหมือน MINT กำลังอยู่ในภาวะ ไม่พอใจกับการตัดสินของทอท.ที่ให้ตกคุณสมบัติไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ (27พ.ค.) จะเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า MINT ไม่พอใจผลการตัดสินของทอท. มีการทำหนังสือร้องเรียนไปหลายหน่วยงาน เพื่อเรียกร้องให้ทอท.ทบทวนผลการพิจารณาใหม่ งานนี้บอกเลยไม่ง่ายที่ทอท.จะหันหลังกลับลำคำตัดสิน ทั้งๆที่ผิดเงื่อนไขทีโออาร์

ยกแรกการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ ก็มีอาการแบบนี้แล้ว สงสัยกว่าจะเสร็จสิ้นการประมูลทอท.คงปวดหัวไม่น้อย แต่ที่สำคัญผู้เข้าประมูล เป็นใครไม่สำคัญ  สำคัญที่สุดทอท.ยึดกฎกติกาเป็นหลัก หากอ่อนไหวตามการเรียกร้องของใครบางกลุ่มระวังจะถูกฟ้องร้องโดยไม่รู้ตัว 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight