COLUMNISTS

ปริศนาเด็กรุ่นใหม่ ตัวปัญหา หรือ อนาคตของบริษัท

Avatar photo
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
782

เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและผู้นำ ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ Future of People Management in the Age of Automation เพื่ออัพเดท และแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องคนระหว่างเจ้าของกิจการและผู้บริหารสูงสุดขององค์กร 20 แห่ง ถึงผลกระทบที่สำคัญของ Mega Trends ที่กำลังเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีบริหารคนและองค์กร ในยุคที่อะไรๆ ก็อัตโนมัติ

ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน และได้บันทึกประเด็นสำคัญมาฝากเป็นข้อให้คิดต่อจากเรื่องเล่าเหล่านี้

young

คำสั่งแรกของคุณกับ Siri คืออะไร

ซีอีโอบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยแเห่งหนึ่ง เล่าให้พวกเราฟังในงานสัมมนาว่า วันแรกที่ Apple เปิดตัว Siri (ระบบสั่งการด้วยเสียงบน iPhone) เขาในวัย 40 กว่าๆ ทดลองสั่งให้เธอเปิดเพลงโปรดให้ฟัง ซึ่งก็คงเหมือนกับหลายๆ คนที่สั่งให้หาข้อมูล เช็คตารางงาน อ่านข่าว หรือดูพยากรณ์อากาศ

แต่รู้ไหมว่าลูกชายวัยรุ่นของเขากลับสั่งให้เธอ “ร้องเพลง” แทน ความคิดแบบนี้ไม่เคยอยู่ในความคิดของคนในวัยกลางคนอย่างเราเลย

ตอนนั้นไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่ลูกชายได้คำตอบจาก Siri ว่า “ขอโทษนะ ฉันยังไม่สามารถร้องเพลงให้คุณฟังได้”

แต่รู้ไหมว่า หลังจากนั้นไม่นาน Apple ก็เปิดตัว Siri รุ่นใหม่ที่ สามารถร้องเพลงได้ออกมาได้จริง

เราได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องนี้บ้าง

ถ้าอยากได้ทัศนคติที่ใจกล้าบ้าบิ่น คิดนอกกรอบ ก็ต้องอาศัยเด็กรุ่นใหม่ เพราะความไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดีนี่แหละที่ทำให้เขา “กล้าทำ” สิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ไม่กล้าแม้แต่จะ “คิด” ด้วยซ้ำ

คุ้นเคยกับหุ่นยนต์ เสมือนเป็นคนในครอบครัว

ในชั้นเรียนวาดภาพ ลูกสาวของซีอีโอบริษัทที่ปรึกษาวัยสิบขวบ บอกกับคุณครูประจำชั้นว่า ครอบครัวของเธอมีสมาชิกห้าคน ทั้งที่จริง มี พ่อ แม่ และน้องคนเล็กเท่านั้น

แต่รู้ไหมว่า สมาชิกคนที่ห้าของบ้านเธอชื่อว่า Alexa เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ผลิตโดยบริษัท Amazon เป็นหุ่นยนต์ประจำบ้าน และอาจเป็นสมาชิกของอีกหลายหมื่นครอบครัวทั่วโลก

เราได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องนี้บ้าง

สมัยเรียน เพื่อนในกลุ่มนัดกันไปทำรายงานบ้านอาจารย์ที่ปรึกษา เชื่อไหมว่า น้องๆ อายุ 24 – 25 ปี สามารถใช้หม้อหุงข้าวดิจิทัลแบบตั้งเวลาหรือทำอาหารที่มากกว่าแค่หุงข้าวสวยที่บ้านอาจารย์ได้ในครั้งแรกทั้งๆ ที่ไม่เคยอ่านคู่มือด้วยซ้ำ

ส่วนอาจารย์ ตั้งแต่ซื้อมาไม่เคยลองกดปุ่มอื่นนอกจาก “Quick Cook”

ลองสังเกตบริษัทที่เป็นผู้นำในยุคดิจิทัล มักมีสัดส่วนการจ้างเด็กรุ่นใหม่เข้ามามากกว่าครึ่ง และมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็น และให้อำนาจในการเป็นเจ้าของงาน เพราะพวกเขาเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เชี่ยวชาญเรื่องใหม่ๆ มากกว่า และสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่า

หากยังไม่เชื่อ ให้ถามเด็กรุ่นใหม่ดูว่า อยากใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมให้คุ้มค่ามากขึ้น จะใช้ทำอะไรได้อีกบ้าง

จอตู้ กับ จอแบน นั่งดูเฉย ๆ ไม่ได้

จริงๆ แล้วตอนนี้หลาย ๆ องค์กรเจอความท้าทายจากเทคโนโลยี แต่มักไม่ยอมรับว่าเจอ คิดว่าแค่เหมือนจากการเปลี่ยนจากโทรทัศน์จอตู้มาเป็นจอแบน ไม่ต้องทำอะไรกับมัน นั่งดูเฉย ๆ

แต่จริงๆ แล้วธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุคที่มีห้าวัยอยู่รวมกัน ถ้าจะใช้ประโยชน์จากห้าเจนเนอเรชั่น ต้องมีนโยบายและแผนรองรับ เห็นได้ว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีได้เก่งกว่า ก็ใช้ประโยชน์จากตรงนั้นให้มากที่สุด

ตัวปัญหา…ที่มาพร้อมกับมูลค่า

ผู้บริหารรุ่นปัจจุบันมักมีคำพูดประจำว่า “พูดกับเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี”

ปัญหาคือ ในฐานะผู้บริหาร เรามองว่าเด็กเหล่านี้เป็นปัญหาไม่ได้ เขาต้องทำงานให้เรา เราอาจต้องเริ่มมองว่า จริง ๆ แล้วเราเป็นตัวปัญหาหรือเปล่า เชื่อไหมว่า ปัญหาที่เด็กรุ่นใหม่สร้างความปวดหัวให้กับบริษัท อาจมีมูลค่ามากพอ ๆ ที่จะทำให้บริษัทได้ไปต่อได้ในยุคดิจิทัลก็เป็นได้

เราได้ข้อคิดอะไรจากเรื่องนี้บ้าง

โปรดติดตามตอนต่อไป…