Finance

สมัครเลย !! 24 พ.ค. 8 โมง เริ่มเปิดรับ ‘โซลาร์ภาคประชาชน ‘ วันแรก

“ศิริ ” จับมือ กกพ.-กฟน.-กฟภ. ซักซ้อมเปิดรับสมัครประชาชนเข้าร่วมโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ผ่านช่องทางเว็บไซต์ เริ่มเวลา 8.00 น.ของวันที่ 24 พฤษภาคม เป็นต้นไป เต็มเร็วปิดเร็ว 100 เมกะวัตต์แรก กำหนดขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ 2562 ย้ำช่วยกันตรวจสอบไม่ให้มีการสมัคร เพื่อไปขายโควต้าต่อ

IMG 20190523 132340

วันนี้ (23 พ.ค.) ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ซักซ้อม และสาธิต การเปิดรับสมัครบ้านเรือนประชาชนเข้าโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน ” หลังจากที่สำรวจพบว่ามีประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยจะเปิดจอออนไลน์รับสมัครผ่านเว๊ปไซด์ของกฟภ.และกฟน. นับจากเวลา 8.00 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป

นายศิริ กล่าวว่า คาดว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก จึงได้เข้ามาร่วมประชุมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการซักซ้อมกระบวนการรับยื่นผู้ที่สมัครเข้ามา ขณะเดียวกันก็ย้ำให้อำนวยความสะดวก กับประชาชนอย่างเต็มที่ และต้องทำให้รวดเร็ว โปร่งใส เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมเต็มที่ โดยประเมินว่าจากกระบวนการและระบบที่เตรียมมาเป็นอย่างดี จะใช้เวลา 2 เดือนเท่านั้น ประชาชนก็สามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟน.หรือกฟภ.ได้

ทั้งนี้ ยืนยันว่าใครสมัครก่อนได้ก่อนเต็ม 100 เมกะวัตต์สำหรับปีนี้ก็จะปิดรับสมัคร ยกเว้นมีความต้องการมากจริงๆ อาจจะนำมาพิจารณาขยายโควต้า แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่กระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยแนวทางเดิมจะรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี นับจากปี 2562-2571 คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 10,000-20,000 ครัวเรือนต่อปี หรือ 100,000-200,000 ครัวเรือนตลอด 10 ปี ซึ่งแต่ละปีอาจจะขยับให้มากกว่า 100 เมกะวัตต์ได้

โครงการนี้จะทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากมาย โดยเฉพาะบำรุงรักษา ซึ่งกระทรวงพลังงานจะหารือกับอาชีวศึกษาเปิดหลักสูตร ระดับปวส. เรื่องการติดตั้ง และบำรุงรักษาโซลาร์รูฟท็อป เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา มีความรู้นำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

” ย้ำเตือนว่าให้ช่วยกันตรวจสอบ ประชาชนที่มาสมัคร ต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์เท่านั้น และแต่ละเขตพื้นที่ก็จะมีโควต้ากำหนดด้วย และจะต้องไม่มีการจองเข้ามา เพื่อไปขายโควต้าต่อ ”  

ด้านนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า กกพ.ได้ออกระเบียบ ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน พ.ศ. 2562  เพื่อรองรับหลักเกณฑ์การเปิดรับสมัครประชาชนเข้าร่วมโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2562

IMG 20190523 134337

โครงการนี้ย้ำว่ามุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็ก ได้ผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อใช้เอง และนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับกฟน.และกฟภ. มีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี

ทั้งนี้มีประชาชนเข้ามาสอบถามข้อมูลเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับ คำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะดูจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนเป็นหลัก

โดยต้องมีการเปรียบเทียบกับปริมาณความต้องการ และช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าในบ้านของตนเองก่อน เช่น  หากมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า กล่าวคือ เน้น ผลิตเองใช้เอง ประหยัดค่าไฟไปประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย เหลือถึงขายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย  อายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 10 ปี

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำหรับการเปิดรับสมัครประชาชนผู้สนใจ เพื่อยื่นขอขายไฟฟ้า จะเป็นการยื่นผ่านระบบออนไลน์ในช่องทางเว็บไซต์ ของ กฟน. ที่ https://spv.mea.or.th และ เว็บไซต์ของ กฟภ. ที่ https://ppim.pea.co.th ซึ่งได้มีออกแบบมาเป็นช่องทางเฉพาะ เพื่อรองรับการอำนวยความสะดวก และรวดเร็วให้กับประชาชนผู้สนใจที่จะเข้ามาสมัคร

โดยจะเปิดรับยื่นความจำนงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562 โดยทั้งกฟน.และกฟภ.จะทยอยประกาศรายชื่อ ผู้ที่ผ่านการพิจารณาทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า รวมทั้งส่งผลให้ผู้สมัครได้รับทราบทางอีเมลที่ได้แจ้งไว้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

ในปี 2562 โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ได้กำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น กฟน. จำนวน 30 เมกกะวัตต์ และกฟภ. จำนวน 70 เมกกะวัตต์ โดย กฟน. ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี  และสมุทรปราการ สำหรับพื้นที่ดำเนินการของ กฟภ. ประกอบด้วย 74 จังหวัด ที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ดำเนินการของ กฟน.

 

IMG 20190523 134709
สาธิตการสมัครเข้าโครงการ

สำหรับประชาชนผู้สนใจ เข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อ เพื่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 02-207-3599 หรือติดตามจากเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th ซึ่งจะมีลิงก์ (Link) เชื่อมโยงเข้าระบบการลงทะเบียนกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Online) และดาวน์โหลด (Download) เอกสารที่เกี่ยวข้อง และอัพโหลดเอกสาร (Upload) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ในเว็บไซต์ของ กฟน. และเว็บไซต์ กฟภ.

ทั้งนี้การเปิดรับสมัครโซลาร์ประชาชนนั้น จะดำเนินการทางออนไลน์เท่านั้น โดยย้ำว่าต้องสมัครเข้าโครงการโดยเจ้าของมิเตอร์เท่านั้น และต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 หรือประเภทที่พักอาศัย สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มีการติดตั้ง มีความประสงค์จะติดตั้งให้พิจารณาเลือกผู้รับติดตั้งโซลา์รูฟท็อปที่ได้มาตรฐาน ส่วนอุปกรณ์ต่างๆต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเท่านั้น

IMG 20190523 134617
มิเตอร์โซลาร์รูฟท็อป’

ประชาชนที่ผ่านคุณสมบัติ และได้รับการคัดเลือก จะต้องเปลี่ยนมิเตอร์ใหม่ มีค่าใช้จ่าย 8,500 บาท เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้า สำหรับราคาตลาดค่าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอยู่ที่ประมาณ 30,000-35,000 บาทต่อกิโลวัตต์ บ้านที่เหมาะกับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป กฟน.และกฟภ. ย้ำว่าควรเป็นบ้านที่ใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันด้วย เพื่อใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่บ้านตนเองผลิตได้ ลดพีคของระบบ และลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ควรเป็นบ้านที่เสียค่าไฟฟ้าเกิน 3,000-5,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป คืนทุนประมาณ 12-15 ปี แต่หากเป็นบ้านที่เสียค่าไฟฟ้าไฟฟ้ามากเช่น 10,000 บาทต่อเดือนจะคืนทุนสั้นลงเหลือประมาณ 6 ปี 

Avatar photo