General

10 อาการบอกสมองเสื่อมมาเยือน

ต้องนำมาเตือนกันถี่ขึ้นสำหรับ “โรคอัลไซเมอร์” หรือโรคสมองเสื่อม เพราะสถิติที่เพิ่มขึ้นจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุในหลายประเทศ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ เมื่อปี 2561 ระบุว่า ทุกๆ 68 วินาทีจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คนบนโลกใบนี้

ในขณะที่กรมกิจการผู้สูงอายุรายงานตัวเลขผู้สูงอายุของไทยในปี 2561 อยู่ที่ 10,666,803 คน จากข้อมูลของสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยพบว่า 10% ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาการสมองเสื่อม

dependent 100342 640

และการที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน  ทำให้มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้น เมื่อคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อมนับเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลผู้ป่วยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมนั้น เป็นภาระสำคัญสำหรับญาติผู้ดูแล ที่ต้องให้การดูแลอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาผ่านไปภาระในการดูแลยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะเสื่อมถอยของสมองที่มากขึ้น และบุตรหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกะทันหันได้มากขึ้นเช่นกัน

หลายครั้งที่ลูกหลานอาจสับสนระหว่างการหลงลืมในคนสูงวัยกับโรคอัลไซเมอร์นั้นแตกต่างกันอย่างไร เนื่องจากมีรายละเอียดที่ซับซ้อน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม ที่บางรายยังสามารถช่วยตัวเองได้ทั้งที่ป่วยอยู่ นั่นอาจทำให้คนในครอบครัวมองข้ามโรคดังกล่าว หรือคิดว่าผู้สูงอายุไม่ได้ป่วย

พญ.ภาพันธ์ ไทยพิสุทธิกุล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวโรค ตลอดจนการสังเกตอาการ “สมองเสื่อม” ไว้น่าสนใจ เพื่อนำมาสู่การป้องกันและดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง

โดยแนะนำว่า ให้จำหลักการสังเกตง่ายๆ ว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะมี 10 อาการดังนี้

1.มีปัญหาเกี่ยวกับความจำระยะสั้น  เช่น หากผู้สูงอายุมีอาการลืม จนถึงขึ้นไม่สามารถดูแลตัวเองได้ หรือ จำไม่ได้ว่าวิธีตักข้าวรับประทานทำอย่างไร

2.พูดหรือถามซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องเดิม หรือนึกคำพูดไม่ออก

3.ไม่ชอบเข้าสังคม ทั้งที่ก่อนหน้าเคยชอบทำกิจกรรม

4.หลงทางได้ง่าย โดยเฉพาะในจุดที่มีแสงสว่างน้อย

5.ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ไม่ดีเท่าเดิม

6.ขาดความสามารถในการเข้าใจสีหน้า และท่าทางของผู้อื่น ในขณะที่ต้องเข้าสังคมกับผู้อื่น

7.ขาดการยับยั้งชั่งใจ เช่น สามารถปัสสาวะในที่สาธารณะ

8.ทำร้ายผู้อื่น

9.ถ่มน้ำลายต่อหน้าผู้อื่น

10. มีอาการนิ่ง เฉยเมย

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง มีโอกาสป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถเกิดภาวะหูแว่ว ประสาทหลอนได้ ในกรณีพบเป็นโรคอัลไซเซอร์เมอร์ที่มีอายุน้อย ซึ่งอาการอย่างหลังนี้ไม่ใช่เป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท แต่เป็นภาวะของความจำเสื่อมนั่นเอง และยังมีอาการอื่นๆที่พบได้ เช่น อาการหลงผิด โดยคิดว่ามีผู้อื่นมาขโมยเงิน โดยเฉพาะผู้ที่ดูแล ตื่นบ่อย และอยากเดินออกไปนอกบ้าน

dependent 441408 640

ลูกหลานจึงจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยกับผู้อายุ เช่น  ต้องไม่มีสิ่งของที่เป็นอันตรายวางอยู่กับพื้น ที่ลืมไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายจะมีความต้องการทางเพศ ซึ่งอาจต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ เพื่อจัดยาในการควบคุมอารมณ์ทางเพศให้กับผู้ป่วย

ทั้งนี้ หากอาการที่กล่าวมามีภาวะที่ดีขึ้น ก็อาจไม่ใช่โรคสมองเสื่อม แต่หากมีอาการข้างต้น และสงสัยก็ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรับการวินิจฉัยโรค

สำหรับสาเหตุของโรคสมองเสื่อมเกิดได้อย่าง คุณหมอบอกว่า มาจากหลายปัจจัย ทั้งการป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือผู้สูงอายุที่ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กระทั่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ประมาณ 5-6 ปี ก็เป็นปัจจัยของโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ก็มีกลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่สามารถดูแลตัวเองได้ จะเป็นกลุ่มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังสามารถพูดคุยโทรศัพท์ติดต่อกับลูกหลานได้ ทำอาหารกินเองได้ อาบน้ำและแต่งตัว กระทั่งไปถอนเงินที่ธนาคารได้ จัดยาให้ตัวเองได้ เดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งโดยไม่หลงลืม

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่ดีที่สุด

  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกาย จะกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข อีกทั้งเป็นวิธีคลายเครียดได้เป็นอย่างดี ทำให้สมองปลอดโปร่ง และร่างกายแข็งแรง
  • เล่นเกมจับคู่ หรือเกมบวกเลขง่ายๆ เป็นการบริหารสมองที่ดีเช่นเดียวกัน
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริม และต้องเลือกกินไขมันที่ดีต่อร่างกาย เช่น ไขมันจากพืชอย่างน้ำมันมะกอก เป็นต้น

หากลูกหลานสงสัยว่าคุณตาคุณยายป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมหรือไม่ นอกจากสังเกตพฤติกรรมที่กล่าวมาแล้ว หรือแม้แต่การซักถามจากผู้ป่วย ซึ่งหากท่านไม่ยอมรับ คุณหมอ มีวิธีเช็กอาการโรคสมองเสื่อมอย่างง่ายๆ ที่เรียกกันว่า “Mini-cog” โดยเริ่มจาก

1. บอกให้ผู้สูงอายุจำ 3 สิ่งต่อไปนี้ ได้แก่ “ดอกไม้” “รถไฟ”  “นาฬิกา”

2. ให้ผู้สูงอายุหยิบกระดาษเปล่าขึ้นมา และวาดเป็นรูปนาฬิกา โดยการใส่เลขให้ครบ และให้นาฬิกาที่ผู้สูงวัยวาดบอกเวลาที่ 11.15 นาที

3.ให้ผู้สูงอายุบอกสิ่งของ 3 อย่าง ตามข้อที่ 1 หากผู้สูงอายุทำได้ตรงตามที่กล่าวมาทั้ง 3 ข้อ ถือว่ายังไม่เข้าข่ายเป็นโรคความจำเสื่อม

แต่หากผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้ทั้ง 3 ข้อ แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์โรคสมอง อายุรแพทย์ทั่วไป แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว อายุรแพทย์ผู้สูงอายุ หรือจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป หรือหากผู้สูงอายุสามารถวาดนาฬิกาได้ถูกต้อง แต่จำสิ่งของในที่ 1 ไม่ได้ อาจเข้าข่ายป่วยโรคอัลไซเมอร์ แต่ระดับของอาการยังไม่สูงมาก

Avatar photo