Economics

ระวังเต็ม !! คิกออฟ ‘โซลาร์ประชาชน’ บ้านไหนสมัครก่อนได้ก่อน

บ้านไหนอยากติดโซลาร์บนหลังคา เตรียมตัวได้เลย เพราะกฎกติกาออกมารองรับแล้ว ภายใต้ “ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชน พ.ศ. 2562″ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562

solar panel array 1591358 640

โครงการนี้ประชาชนให้ความสนใจอย่างสูง เพราะต่อไป “ ฉัน ” จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบแบบเท่ห์ๆ ผลิตเองใช้เอง เหลือขายให้หลวงได้ด้วย ในอัตราที่กระทรวงพลังงานกำหนดรับซื้อที่ 1.68 บาทต่อหน่วย จากเดิมเป็นเพียง “ผู้ใช้ไฟ”

งานนี้ใครมีชื่อเป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า หรือ มิเตอร์ หากสนใจก็ไปยื่นเรื่องเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ากับกฟน.หรือกฟภ.ตามเขตที่อยู่ ถึงเวลาตกลงปลงใจทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับหลวงอย่างเป็นทางการแล้ว กฟน.และกฟภ.ก็จะเปิดสายไฟฟ้าให้เราเชื่อมต่อขายเขาระบบ

อย่าลืมไปศึกษาระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานฯ ฉบับนี้ให้ถ้วนถี่ ว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้าง แน่ๆต้องผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ก็คือ ต้องเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) โดยเทคโนโลยีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (Photovoltaic Panel) ที่ติดตั้งบนหลังคา ดาดฟ้า หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดบนอาคาร ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่ หรือใช้สอยได้ จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทที่ 1 เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ต่อครัวเรือน

โครงการกกพ.ซึ่งเป็นผู้คุมกฎกติกาซื้อขายโซลาร์ภาคประชาชน บอกว่าอาจจะเปิดรับลงทะเบียนผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าก่อน 31 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นกำหนดการเดิม เพราะประชาชนสนใจกันมากมายถล่มทะลาย จากนั้นกำหนดจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเดือนมิถุนายน 2562 และพร้อมขายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปีนี้เป็นต้นไป   

โครงการนี้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกำกับนโยบาย ย้ำไว้แล้วว่า ใครมาก่อนได้ก่อน หรือ  First come First served  พิจารณาเรียงลำดับก่อนหลัง เพราะเปิดรับซื้อแค่ 100 เมกะวัตต์ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี กำหนดพื้นที่ของกฟน. 30 เมกะวัตต์ และกฟภ. 70 เมกะวัตต์

นายศิริ คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย อย่างน้อยก็รับติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคา และบำรุงรักษา ซึ่งผู้ประกอบการของไทย รวมถึงสถาบันการศึกษา เช่น อาชีวศึกษา มีโอกาสเข้ามาในธุรกิจนี้ได้ทั้งสิ้น คาดว่าจะมีการติดตั้งราว 10,000 – 20,000 ระบบ คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท หรือ 10 ปีก็เกิดเงินสะพัดได้ราว 40,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

IMG 20190425 153517
บัณฑิต สะเพียรชัย

มาดูผู้ประกอบการรับติดตั้งอย่าง บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นายบัณฑิต สะเพียรชัย  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่า เป็นโอกาสของประชาชน และธุรกิจโซลาร์ ในฐานะเป็นผู้รับติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งโครงการใหญ่น้อยมากมาย

ที่สำคัญการเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนครั้งนี้ ทำให้โครงการที่ บริษัท บีซีพีจี เคยนำร่องทำกับ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ตามโครงการเมืองอัจฉริยะสีเขียว T 77 ย่านสุขุมวิท 77

และโครงการที่เขาเพิ่งไปเซ็นสัญญากับ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำ” Sun Share Project ” ที่นำระบบโซลาร์บนหลังคาติดตั้งที่บ้านลูกค้า และ สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ในโครงการเนเบอร์ฮูด บางกะดี  โดยนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งพัฒนาโดยบีซีพีจีมาใช้  ทั้งสองโครงการจะไม่ได้เป็นแค่โครงการนำร่องอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นได้จริงเต็มไปหมดจาก “โครงการโซลาร์ภาคประชาชน” ที่รัฐเปิดช่องทางให้เกิดขึ้น

สิ่งที่นายบัณฑิต อยากจะเห็นใน step ต่อไปก็คือ แทนที่จะซื้อขายไฟฟ้ากันในพื้นที่ปิด หรือในพื้นที่ของเอกชน และใช้สายไฟฟ้าของเอกชน ขยับเป็นการซื้อขายกันเอง แต่เชื่อมโยงใช้สายส่งไฟฟ้าของรัฐ  เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาใช้ภายในองค์กร แต่เหลือใช้ สามารถขายให้บ้าน หรืออาคารบริเวณข้างเคียงได้ โดยใช้สายไฟฟ้า    ของกฟน.หรือกฟภ. ที่เรียกว่า Peer to Peer

“ หากทำได้เป็นรูปธรรม ประเทศไทยจะมีการกระจายการผลิตไฟฟ้าเต็มประเทศ ลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ส่วนผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่กลัวกันนั้น ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเทคนิค ต้องคุย และแก้แบบเทคนิค ไม่ใช่นำมาเป็นอุปสรรค เพราะสิ่งสำคัญขอให้ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ”

20190425 192607 2

นายบัณฑิต เสนอเลยว่า หากบ้านไหนจะติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ง่ายมากเข้า PEA Solar Hero Application ที่พัฒนาโดย กฟภ. ซึ่งจะบอกทุกสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา และเรื่องอื่นๆ ทั้งสามารถใช้ Application นี้ติดต่อ เพื่อให้เราเข้าไปพัฒนาให้ได้เลย เพราะ บริษัทได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือ กฟภ. จัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development (TDED) พัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ใช้นวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะโซลาร์บนหลังคา

พร้อมกับฝากราคาให้นำไปพิจารณากันว่า หากใครสนใจติดตั้ง สนนราคารวมทุกอย่างทั้งอุปกรณ์ และระบบ  1 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 8-10 ไร่ ราคา 30 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่ถูกลงถึง 20 ล้านบาท จากเมื่อ 5 ปีก่อนขนาดเท่านี้ต้องมีเงินถึง 50 ล้านบาทถึงจะติดตั้งได้ หรือ ถ้าขนาดบ้านทั่วๆไป 300 กิโลวัตต์ ก็สนนราคา 100,000-150,000 บาท ติดต่อผ่านมาเลยที่ PEA Solar Hero Application หรือไม่สะดวกติดต่อผ่าน บริษัท TDED หรือ บริษัท บีซีพีจี ก็ย่อมได้เช่นกัน รับรองราคานี้คุ้ม เพราะโครงการโซลาร์ภาคประชาชน นี่เอง ที่เปิดช่องทางให้นำไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานในบ้านของเรา ไปขายคืนรัฐ ได้สตางค์กลับมาเข้ากระเป๋าอีกด้วย

มาก่อนได้ก่อนอย่าลืม เร่งตัดสินใจกันซะ โควต้า “โซลาร์ภาคประชาชน” รออยู่ ปีละ 100 เมกะวัตต์เท่านั้น 

Avatar photo