Economics

แนะสินค้าไทยปรับตัวรับปัจจัยลบ ชี้สงครามการค้าจีน-สหรัฐ การเมืองไทย ตัวแปรลุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

นายกสมาคมการตลาดฯ แนะหาโอกาสในวิกฤต ส่งสินค้าทำตลาดจีนสหรัฐเสียบแทนสินค้าที่ตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน เผยตลาดอินเดีย เออีซียังมีโอกาสมหาศาล

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นสิ่งที่นักธุรกิจทุกประเทศทั่วโลกจับตามอง ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลดลง ประมาณ 0.5-1% รวมถึงประเทศไทย

อย่างไรก็ตามมองว่า สำหรับประเทศไทยจะมีทั้งผลบวกและผลลบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะในวิกฤตย่อมมีโอกาส โดยเฉพาะในสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน ถือเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะเข้าไปทำตลาดในจีนและสหรัฐ อาทิ สินค้ากลุ่มปิโตรเคมีที่สามารถเข้าไปทำตลาดในจีนได้ ดังนั้นการปรับตัวหาโอกาสใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สงครามการค้าสหรัฐจีน
ภาพจาก kasikornresearch

ทั้งนี้ นักการตลาดและธุรกิจรวมถึงผู้ประกอบการสินค้าต้องมีการปรับตัว โดยเรื่องแรกๆ ที่ต้องทำคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการลดต้นทุน รวมถึงการแสวงหาตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากจีนและสหรัฐ เช่น ภูมิภาคอื่นๆ ในโลกที่เศรษฐกิจยังมีการเติบโต อาทิ อินเดีย ที่นับว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทย จากจำนวนประชากรมากและเศรษฐกิจยังเติบโตได้ดี แต่สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างแบรนด์เพิ่มเพื่อสร้างการรับรู้ก็น่าจะเป็นโอกาสให้ธุรกิจไทยแสวงหาวิธีการทำตลาดใหม่ๆ

“วิกฤตครั้งนี้ยังต้องจับตามองต่อไป เพราะยังไม่ข้อสรุปที่ชัดเจน อาจจะมีรอบการเจรจาธุรกิจใหม่หลายๆ เวที ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองประเทศมาเจรจากันและปรับความเข้าใจกัน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายอรรถพลกล่าว

ขณะเดียวกันเชื่อว่า แม้จีดีพีประเทศไทยจะหล่นมาเหลือ 2.8  ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่เติบโต นักการตลาดต้องไม่ท้อและต้องขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่นไปหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ และเทรนด์การทำตลาดต้องผสมผสาน เพราะแม้ออนไลน์จะมาแรงแต่ก็หนีออฟไลน์ที่เป็นชีวิตจริงไม่ได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การเชื่อมโยงอย่างสอดคล้องกันทั้งโลกของออฟไลน์และออนไลน์

อินเดีย

กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ยังต้องจับตาทั้งปัจจัยภายใน คือการเมืองที่หากมีความชัดเจน จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยฟื้นตัวดีขึ้น และปัจจัยภายนอกคือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก

 

Avatar photo