Business

ทำไม ‘สาหร่ายเถ้าแก่น้อย’ ยังไม่ฟื้น ไตรมาสแรกกำไรลดฮวบ

จำได้ไหมครั้งหนึ่งหุ้นสาหร่ายชื่อดัง TKN  หรือ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) เคยเป็นบริษัทที่มีผลงานเติบโตโดดเด่น จนเป็นที่จับตามองของตลาดอย่างมาก

หลังจากที่ คุณอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ต๊อบ เถ้าแก่น้อย” นำบริษัทเข้า IPO ในปี 2558 เพียง 1 ปีต่อมา เถ้าแก่น้อยมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 97% ทำให้ช่วงนั้น (ปี 2558-2560) หุ้น TKN หอมหวานเอามากๆ กลายเป็นหนึ่งใน Growth Stock โดยราคาหุ้นเคยวิ่งทะลุ 20 บาทมาแล้ว และมี P/E สูงเกือบ 50 เท่า

IMG 7086
อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ภาพ:cp-enews.com

ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากยอดขายสินค้าทั้งในและต่างประเทศเติบโตอย่างมาก และบริษัทยังมีสตอรี่ที่น่าสนใจในการบุกตลาดจีน และแผนเปิดโรงงานใหม่ที่จะช่วยให้ economies of scale ดีขึ้น  

โตไม่ทันความคาดหวังของตลาด

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ปี 2559 เถ้าแก่น้อยกลับไม่สามารถสร้างกำไรขยายตัวได้อีกเลย ขณะที่ยอดขายแม้จะสูงขึ้น แต่ก็เพิ่มในอัตราลดลงทุกปี

ผลประกอบการเถ้าแก่น้อย 01

ผลประกอบการเถ้าแก่น้อย ปี 2558 – 2560

ปี 2558 รายได้ 3,515 ล้านบาท กำไร 396 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้ 4,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.53% กำไร 781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97.22%

ปี 2560 รายได้ 5,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.71% กำไร 608 ล้านบาท ลดลง 22.15%

ปี 2561 รายได้ 5,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.83% กำไร 459 ล้านบาท ลดลง 24.50%

โดยเฉพาะล่าสุดปี 2561 กำไรลดลงถึง 24.50% จนเกิดวิกฤติราคาหุ้น TKN เพราะเพียงประกาศผลประกอบการออกมา ราคาหุ้นก็ดิ่งลงมากกว่า 10% ภายในวันเดียว

ปัญหาที่เถ้าแก่น้อยเจอคือรายได้โตไม่ทันรายจ่าย เนื่องจากหลายปีมานี้ บริษัทใส่เม็ดเงินจำนวนมากกับการลงทุน เช่น สร้างโรงงาน ออกสินค้าใหม่ๆ เปลี่ยน Packaging รวมถึงทุ่มงบทำการตลาดจำนวนมหาศาล

ไตรมาสแรก ปี 2562 ยังไม่ฟื้น

หลายคนเชื่อว่าปี 2562 เถ้าแก่น้อยจะสามารถฟื้นกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง แต่ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเปิดมาไตรมาสแรกก็ยังไม่ดีเท่าไรนัก  

งบไตรมาส 1 ปี 2562 บริษัทมียอดขาย 1,321 ล้านบาท ลดลง 2.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 81 ล้านบาท ลดลง 46.40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดูเผินๆ แล้ว กำไรของบริษัทหายไปเยอะกว่าเดิมเสียอีก

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้กำไรลดฮวบขนาดนี้ ลองมาอ่านงบการเงินไตรมาสแรกของเถ้าแก่น้อยกัน

IMG 7117
ภาพ:cp-enews.com

ยอดขายต่างประเทศหายไป

แม้ตลาดในประเทศจะยังเติบโตได้ที่ 12% มียอดขาย 569 ล้านบาท แต่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นก้อนที่ใหญ่กว่า กลับมียอดขายลดลง 7.5% เหลือ 752 ล้านบาท

โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญ รองลงมาได้แก่ สหรัฐ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แน่นอนว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายหายไป  เนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทยกเลิกสัญญากับตัวแทนจำหน่ายในจีนนั่นเอง

ค่าใช้จ่ายการขายและบริหารสูงเกินไป

เมื่อดูสัดส่วนทางการเงิน เถ้าแก่น้อยมีต้นทุนผลิตสินค้าราว 71%  ถือว่าอยู่ในจุดเหมาะสมและลดลงด้วยจากราคาสาหร่ายสดที่ถูกลง แต่ปัญหาหลักคงเป็นในส่วนของค่าใช่จ่ายการขายอยู่ที่ 15.4% และค่าใช้จ่ายการบริหารอยู่ที่ 6.6% รวมกันแล้วคิดเป็นต้นทุนกว่า 291 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนสูงทีเดียว เพราะมีค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์ใหม่ อย่าง ร้านข้าวแกงกระหรี่ Hinoya Curry และ เถ้าแก่น้อย Tinten ซึ่งบริษัททุ่มงบการตลาดไปเยอะพอสมควร

จึงส่งผลโดยตรงต่ออัตรากำไรสุทธิ (GPM) หดตัวเหลือเพียง 6.13% เท่านั้น และต่ำกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน  บางทียอดขายอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วงของเถ้าแก่น้อยเท่าไรนัก แต่ปัญหาอาจเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำตลาด หรืองบโฆษณาที่สูงลิ่วเกินไปก็ได้  

Avatar photo