Finance

ส่องหุ้น SET100 ยัง Laggard!

TSI Article Inv EQ 297 01

หลังจากปีที่แล้ว ตลาดหุ้นไทยผันผวนอย่างมากจากปัจจัยลบต่างๆ ทำให้พอร์ตลงทุนได้รับผลกระทบจนต้องจัดทัพกันใหม่ แต่ปีนี้หุ้นไทยปรับขึ้นอีกครั้งจนต้องปรับพอร์ตกันอีกรอบ การที่ดัชนีปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาหุ้นโดยเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง หรือหุ้นที่เป็นผู้นำตลาดมักขยับขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. – เม.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นหลักๆ ของโลกปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง โดยเฉพาะหุ้นจีนและหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากความคาดหวังเชิงบวกว่าจีนและสหรัฐอเมริกาจะสามารถยุติข้อพิพาททางการค้าได้ในเวลาอันรวดเร็ว รวมถึงนักลงทุนคลายความกังวลเรื่องสภาพคล่องตึงตัวในตลาด หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ส่งสัญญาชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะยุติการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) ในเดือนกันยายนนี้ และ MSCI ประกาศเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดจีนเป็น 20% จาก 5% ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนตลาดหุ้นจีนเพิ่มมากขึ้น

จากปัจจัยบวกดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยก็ปรับขึ้นเช่นกัน และขณะเดียวกันมีความมั่นใจว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้จะเติบโตในระดับที่น่าประทับใจ ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนีหุ้นไทยอยู่ในทิศทางเป็นขาขึ้น โดยมีผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ระดับ 7%

หากเข้าไปดูหุ้นรายตัว พบว่าเริ่มปรับขึ้นกันอย่างต่อเนื่องและหุ้นบางตัวปรับขึ้นอย่างร้อนแรง จนทำให้นักลงทุนต้องใช้กลยุทธ์ Wait & See เพราะราคาได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว

ในช่วงตลาดหุ้นกำลังเป็นขาขึ้น ราคาหุ้นส่วนใหญ่ขยับขึ้น นักลงทุนพยายามหาผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น (Capital Gain) แต่ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังเพราะหากเข้าซื้อในจังหวะที่ราคาปรับขึ้นไปสูงๆ แล้ว ผลลัพธ์อาจติดดอย

คำถามคือ หากสนใจลงทุนควรใช้กลยุทธ์อะไรเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ขณะเดียวกันมีความความเสี่ยงไม่มากนัก คำตอบคือ มองหาหุ้นที่ราคายัง Laggard

ยกตัวอย่าง หุ้น A, หุ้น B, หุ้น C และหุ้น D ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน ซื้อขายในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 4 บริษัทมีคุณภาพด้านปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับการเติบโตของยอดขาย กำไรสุทธิ ความสามารถในการแข่งขัน และนักวิเคราะห์ประเมินการดำเนินธุรกิจในเชิงบวก ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นไปพร้อมๆ กัน

เมื่อประกาศงบไตรมาสแรกออกมาก็เป็นไปตามคาด ทั้ง 4 บริษัททำผลงานได้ดีในระดับใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ราคาหุ้น A ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยหุ้น B และ C ราคาก็ปรับขึ้นตาม แต่เมื่อมองหุ้น D พบว่าราคาแทบไม่ค่อยขยับเลย

เมื่อเข้าไปดูคุณภาพปัจจัยพื้นฐานของหุ้น D พบว่าไม่ต่างจากธุรกิจ A, B และ C แต่ทำไมราคาหุ้นถึงไม่ปรับขึ้นตาม หากเป็นแบบนี้หุ้น D จึงเป็นหุ้น Laggard คือ ราคายังไม่ปรับขึ้นตามหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานไม่มีความแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีการเลือกหุ้น Laggard ด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งที่นิยมกันคือ เลือกตามกลุ่มดัชนีหุ้น เช่น SET50 หรือ SET100 ด้วยการเข้าไปดูว่าราคาหุ้นตัวไหนที่ยังนิ่งๆ ไม่ไปไหน หรือปรับขึ้นพียงเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับขึ้นไปมากแล้ว

วิธีการนี้จะใช้อัตราผลตอบแทนในการเปรียบเทียบเพื่อหาหุ้น Laggard เช่น 4 เดือนแรกของปีนี้ ผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 7% ก็ต้องหาหุ้นใน SET50 หรือ SET100 ที่ยังให้ผลตอบแทนต่ำกว่า 7%

TSI Article Inv EQ 297 02

จากตารางคือ ผลตอบแทนของหุ้น SET100 ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ามีทั้งหุ้นที่ราคาปรับขึ้นอย่างร้อนแรง บางตัวยังไม่ปรับขึ้น ดังนั้น นอกจากดูปัจจัยพื้นฐาน ต้องศึกษาข้อมูลจากบทวิจัย คำแนะนำจากนักวิเคราะห์ รวมถึงปัจจัยด้านเทคนิค ที่สำคัญกลยุทธ์หาหุ้น Laggard เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น จึงต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจลงทุน

ฐิติเมธ โภคชัย 

ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ขอบคุณที่มาจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Avatar photo