COLUMNISTS

ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ?

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
888

ทันทีที่เว็บไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จำนวน 250 คนเมื่อสัปดาห์ก่อน ส.ว.ชุดนี้ก็ตกเป็นเป้าวิจารณ์จากผู้มีส่วนได้เสียทันที  ทั้งประเด็นความหลากหลายของสายอาชีพ ความเป็นกลางในสภา เพราะ ส.ว.หลายคนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในรัฐบาลปัจจุบัน จนส.ว.ชุดนี้ได้สมญาว่า สภาพี่ๆ น้องๆ

รัฐสภา 1

 ในจำนวน ส.ว.ทั้งหมด 250 คนนั้น มาจากทหารและตำรวจ 104 คน อีกกลุ่มสายการเมือง มาจากอดีตรัฐมนตรี อดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ( สปท.) 66 คน สายข้าราชการ 48 คน  นักธุรกิจ 16 คน และอื่นอีก 16 คน โดยหลายคนเป็นพี่ เป็นน้อง หรือเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับคสช. และนายกรัฐมนตรี เช่นที่สื่อหลายสำนักสังเคราะห์ข้อมูลออกมาให้ดูกัน

พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานสรรหาส.ว. โต้เสียงวิจารณ์“สภาพี่น้อง” ว่า บรรดาอดีตสนช. เคยพิจารณากฎหมายมาแล้วสี่ห้าร้อยฉบับ ทำนองว่ามีประสบการณ์  หรือคำอธิบายเข้มๆ ของ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลที่เลือกอดีตรัฐมนตรี หรืออดีตสนช.เพราะเคยทำงานมาด้วยกัน แล้วอยากให้ทำงานต่อ คนทั่วไปได้ฟังเหตุผลแล้วคงอึ้งนานเป็นพิเศษ   

อย่างที่ทราบกันว่าส.ว.ชุดนี้ มาจากการ แต่งตั้งกับกึ่งแต่งตั้ง  เริ่มจากนำตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ 6 คน  มาจากกึ่งเลือกตั้ง (ให้กลุ่มอาชีพ 10 กลุ่มเสนอมา 200 คน แล้ว คสช.คัดเหลือ 50 คน (ขั้นตอนนี้ใช้งบ 1,300 ล้านบาท) และอีก 194 คน มาจากการสรรหาโดย พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ เป็นประธาน โดยไม่มีการเผยรายชื่อ คณะกรรมการร่วมสรรหา  และยังไม่มีการชี้แจงเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นว่าทำไมต้องทำแบบนี้ เหมือนจะบอกเป็นนัยๆ… จะเอาอย่างนี้ 

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า หลังประกาศรายชื่อ ส.ว.และพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมรัฐสภาวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ อยู่ในระยะ 15 วัน หลังประกาศรายชื่อ ส.ส.ได้ทราบมาว่าทางสภาจะจัดพิธีเสด็จไปทรงเปิดสภาในวันที่ 24 พฤษภาคม             

รองนายกฯ ยังคาดไว้ด้วยว่าหลังเปิดสภา วันรุ่งขึ้น (25 พ.ค.) จะเป็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ส่วนการเลือกนายกฯ น่าจะมีขึ้นภายในเดือนนี้(พ.ค.)

ถึงขั้นตอนนี้ บรรดาส.ว.ซึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีสิทธิเลือกนายกฯ คงได้ทำหน้าที่หลักกันอย่างเต็มที่ให้สมกับที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าสภา และทางคสช.คงถือว่าโรดแมพ ประชาธิปไตยที่คสช.ประกาศไว้ เป็นอันมาถึงปลายทาง คือ คืนอำนาจประชาธิปไตยให้ปวงชน

ประชาธิปไตยที่ คสช.คืนกลับมามีหน้าตาต่างไปจากประชาธิปไตยก่อนหน้า เพราะผลผลิตประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน เช่น การเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ และไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว  กาบัตรเดียวเลือกได้สามอย่าง และการคำนวณหาจำนวนสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ติ้ลิสต์ของกกต. โดยยึดหลักทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้มีพรรคได้สส.ถึง 26 พรรค  ยังถูกวิจารณ์และร้องเรียนกันยังไม่จบ  

ประยุทธ์175621

หากย้อนกลับไปดูความเห็นเรื่องประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ที่เคยแสดงไว้ในช่วงที่ผ่านมาตามวาระโอกาสต่างๆ  พอจะมองเห็นคำตอบว่า ทำไมเราถึงได้ประชาธิปไตยหน้าตาแบบนี้ 

 ตอนยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใหม่ๆ  พล.อ.ประยทธ์ หัวหน้าคสช.และนายกฯ ได้กล่าวว่าจะ นำประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มาให้คนไทย โดยอธิบายความหมายไว้ด้วยว่า    “..ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์คือ ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีธรรมาภิบาล  ขอให้พิจารณารัฐบาลในอดีตทำสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด  วันหน้าหวังว่าจะได้รัฐบาลที่สุจริต ไม่คอร์รัปชั่น และไม่ทำให้ประชาชนแตกแยก  ถ้าเป็นเช่นนั้นชาติเจริญแน่นอน “

หรือ  “….. อย่าเสียเวลากับประชาธิปไตย ที่มาจากความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ไม่มีธรรมาภิบาล  อย่าเสียเวลาอีกเลย  มองดูว่ารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร เพื่อคนไทยทุกคน” ( รายการคืนความสุข 11 ก.ย. 58)

ในการให้สัมภาษณ์สื่อก่อนเดินทางไประชุมยูเอ็นเมื่อเดือนกันยายน 2558  พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ พูดถึง ประชาธิปไตยอีกครั้งว่า “จำเป็นต้องเตรียมการประชาธิปไตยที่เป็นสากลหรือไม่ คำว่าสากลต้องกลับมาดูด้วยว่า  คนของเราพร้อมหรือยังที่จะเป็นสากลทุกอย่าง สิทธิ เสรีภาพ  ….”

แม้ คสช. ถือว่าโรดแมพประชาธิปไตยจบแล้ว  และพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ เอง คงคิดฝ่ายเดียวว่า นี่แหละ ใช่เลยประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่เสียของแต่มีผู้คนอีกมากมายที่มองต่างจากมุมของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่นายกฯ คนต่อไป