Economics

ทีโอทีงามหน้าผลงานเน็ตชายขอบทำได้0%

เปิดเอกสารดำเนินงานเน็ตชายขอบวงเงิน1.36หมื่นล้าน พบทีโอทีผลงานเป็น0%  กสทช. เตรียมเรียกค่าปรับรายวันส่งงานล่าช้า ขณะทรู อินเทอร์เน็ตและอินเตอร์ลิ้งค์ มีความคืบหน้าดีกว่า 

รายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+)  หรือโครงการเน็ตชายขอบ วงเงิน 1.36 หมื่นล้านบาท  มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าโครงการ  ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาติดตั้ง 1 ปี และให้บริการ 5 ปี มี 2 บริการ ได้แก่

ส่วนที่ 1 การจัดให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Service) และส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service)

โครงการเน็ตชายขอบ ได้ผ่านกระบวนการประกวดราคาในราคาสุดท้าย 1.29 หมื่นล้านบาท ลดลงจากมูลค่าโครงการที่ตั้งไว้ 624 ล้านบาท หรือลดลง 4.59% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด

โครงการเน็ตชายขอบ แบ่งตามพื้นที่และประเภทบริการได้ทั้งสิ้น 10 สัญญาบริการ โดยมีผู้ให้บริการ ผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้

การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5 สัญญาบริการ

  • ภาคเหนือตอนบน โดย ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น
  • ภาคเหนือตอนล่าง  โดย ทีโอที
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ทีโอที
  • ภาคกลาง-ใต้  โดน อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม
  • จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จังหวัด 5 อำเภอ)  โดย อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม

โดยทุกสัญญามีกำหนดการส่งมอบงานระยะที่ 1 จำนวน 3 งวด

งวดที่ 1 ต้องส่งมอบงานภายใน 150 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา (วันที่ 25 มีนาคม 2561)

งวดที่ 2 ต้องส่งมอบงานภายใน 240 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา

งวดที่ 3 ต้องส่งมอบงานภายใน 364 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา

การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 5 สัญญาบริการ

  • ภาคเหนือตอนบน โดย ทีโอที
  • ภาคเหนือตอนล่าง โดย ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น
  • ภาคกลาง-ใต้   โดย กสท โทรคมนาคม
  • จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จังหวัด 4 อำเภอ) โดย กสท โทรคมนาคม

ทั้งนี้ ทุกสัญญามีกำหนดการส่งมอบงานระยะที่ 1 จำนวน 2 งวด โดยงวดที่ 1 ต้องส่งมอบงานภายใน 180 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา (วันที่ 27 เมษายน 2561)  งวดที่ 2 ต้องส่งมอบงานภายใน 365 วันนับถัดจากวันลงนามในสัญญา

โครงการเน็ตชายขอบ ได้ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยมีกำหนดแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้อย่างครบถ้วนทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายใน 365 วัน หรือในวันที่ 27 กันยายน 2561

ทั้งนี้ในส่วนของความก้าวหน้าในการดำเนินงาน การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทางทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น  และ อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม ได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 ตามสัญญาและสอดคล้องกับแผนงานที่เสนอไว้ ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับฯ ของสำนักงาน กสทช.ได้ดำเนินการตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ของทั้ง 2 บริษัทไว้แล้ว

 ทั้งนี้ มีเพียง ทีโอที ที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผน และยังไม่สามารถส่งมอบงานงวดที่ 1 ได้ตามแผน

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้กำชับชี้แจงกับคู่สัญญาทุกรายว่า การส่งมอบงานล่าช้า โดยไม่มีเหตุสมควรตามกฎหมายจะไม่สามารถยกเว้นเงินค่าปรับตามสัญญาได้ และกำชับให้ ทีโอที เร่งดำเนินการตามสัญญาโดยเร็ว

ตามเอกสารผู้บริหารทีโอที ชี้แจงว่า “แม้งานงวดอื่นๆ อาจล่าช้าไปจากแผนบ้าง แต่กำหนดส่งมอบงานในส่วนของการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการบริการจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดที่รัฐบาลกำหนดไว้”

ทั้งนี้จากการพิจารณาความสำเร็จของการดำเนินงานตามสัญญาดังนี้

กลุ่มที่ 1 ภาคเหนือตอนบน  โดย ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น  มีความก้าวหน้า 28%

กลุ่มที่ 2 ภาคเหนือตอนล่าง  โดย ทีโอที มีความก้าวหน้า 0%

กลุ่มที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ทีโอที มีความก้าวหน้า 0%

กลุ่มที่ 4 ภาคกลาง-ใต้  โดย อินเตอร์ลิ้ง เทเลคอม มีความก้าวหน้า 46%

กลุ่มที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จังหวัด 4 อำเภอ) โดย อินเตอร์ลิ้ง เทเลคอม  มีความก้าวหน้า 38%

ทั้งนี้ในภาพรวมแล้วความก้าวหน้า 17%  กรณีไม่นับรวม ทีโอที อยู่ที่ 34%

เน็ตชายขอบ

ทีโอทีงามหน้าส่งมอบงานงวดที่1ไม่ได้

สำหรับการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น และ กสท โทรคมนาคม ได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 ตามสัญญาและสอดคล้องกับแผนงานที่เสนอไว้ ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับฯ ของสำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างพิจารณาตรวจรับมอบงานงวดที่ 1 ของทั้ง 2 บริษัท

“มีเพียง ทีโอที ที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามแผน และยังไม่สามารถส่งมอบงานงวดที่ 1 ได้ตามแผน”

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ชี้แจ้งว่าการส่งมอบงานล่าช้า โดยไม่มีเหตุสมควรตามกฎหมายจะไม่สามารถยกเว้นเงินค่าปรับตามสัญญาได้และยังกำชับให้ ทีโอที เร่งดำเนินการตามสัญญาโดยเร็ว โดยผู้บริหารของ ทีโอที ชี้แจงว่าแม้งานงวดอื่นๆ อาจล่าช้าไปจากแผนงานบ้าง แต่กำหนดส่งมอบงานในส่วนของการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการบริการจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดที่รัฐกำหนดไว้

เปิดความพร้อมให้บริการทีโอทีมี0%

ส่วนความสำเร็จของการดำเนินงานตามสัญญาดังนี้

กลุ่มที่ 1 ภาคเหนือตอนบน  โดย ทีโอที  มีความพร้อมให้บริการ 0%

กลุ่มที่ 2 ภาคเหนือตอนล่าง  โดย ทรูทูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น  มีความพร้อมให้บริการ  69%

กลุ่มที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดย ทรูทูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีความพร้อมให้บริการ  81%

กลุ่มที่ 4 ภาคกลาง-ใต้  โดย กสท โทรคมนาคม  มีความพร้อมให้บริการ 37%

กลุ่มที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (3 จังหวัด 4 อำเภอ) กสท โทรคมนาคม มีความพร้อมให้บริการ 44%

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ความพร้อมให้บริการ  40%  กรณีไม่นับรวม ทีโอที 64%

นอกจากนี้ เอกสารยังระบุว่าระดับความสำเร็จของสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับพื้นที่ส่วนหนึ่ง จะต้องใช้โครงข่ายใยแก้วนำแสงจากสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดังนั้นบางพื้นที่ หาการวางโครงข่ายใยแก้วนำแสงยังไม่สำเร็จลุล่วง อาจส่งผลกระทบให้คู่สัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่สามารถเริ่มปล่อยสัญญาณ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้ และอาจส่งผลต่อภาพรวมความสำเร็จโครงการทั้งหมด

กสทช. เรียกค่าปรับรายวันส่งงานล่าช้า

อย่าไรก็ตาม ความล่าช้าในการส่งมอบงานของ ทีโอที  ส่งผลให้สำนักงาน กสทช. จะต้องคิดค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้าเป็นรายวัน ตามงวดที่มีการส่งมอบล่าช้า

ดังนั้นหากการดำเนินงานดังกล่าวมีความล่าช้าออกเป็นระยะเวลานานกว่าจะยิ่งเป็นความเสียหาย ทำให้ยอดค่าปรับจากการส่งมอบงานล่าช้าสูงขึ้น อีกทั้งประชาชนในพื้นที่เป้าหมายมีความเสี่ยงที่จะได้รับบริการโทรคมนาคมล่าช้าออกไปจากกำหนดที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล

เน็ตชายขอบ

เน็ตชายขอบ

เน็ตชายขอบ

กสทช.จัดประกวดราคาเน็ตชายขอบ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (30 พฤษภาคม 2561) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,732 หมู่บ้าน โดยก่อนหน้านี้ มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ ดีอี) ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอี) เป็นผู้ดำเนินการ และกระทรวง ดีอี ได้แสดงความประสงค์ที่จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมพื้นที่ Zone C ที่เหลือจำนวน 15,732 หมู่บ้าน แทนสำนักงาน กสทช. โดยจะมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการต่อเนื่องในลักษณะเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกันนั้น

จนถึงบัดนี้พบว่าระยะเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานให้ไม่เป็นไปตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ได้ประกาศและมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2560 อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อค่าธรรมเนียม USO ที่ได้จัดเก็บมาจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายแล้วแต่ไม่ได้นำออกไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคโทรคมนาคมของประเทศไทย

“ประธาน กสทช. มีข้อกังวลว่า การรอมติคณะรัฐมนตรีและชะลอแผนการประกวดราคาอาจทำให้การขยายโครงข่ายทั่วประเทศตามนโยบายรัฐบาลไม่แล้วเสร็จตามกำหนดภายในเดือน ธันวาคมนี้  จึงควรขอความชัดเจนจากรัฐบาล”

ทั้งนี้ ที่ประชุม กสทช. พิจารณาแล้วจึงได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการประกวดราคาโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) จำนวน 15,732 หมู่บ้าน ไปพลางก่อน โดยหากคณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอี) ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มเติมในพื้นที่ Zone C แทนสำนักงาน กสทช. สำนักงานฯ จะขอยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าวต่อไป

พร้อมกับนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ใช้ขอบเขตของงาน (Term of Reference) โครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ตามรูปแบบที่ 3 คือจัดให้มีบริการครบทั้ง 5 บริการ ได้แก่ 1.Wi-Fi สาธารณะประจำหมู่บ้าน 15,732 จุด 2.บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ณ โรงเรียน จำนวน 3,170 แห่ง 3.บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จำนวน 91 แห่ง 4.ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) จำนวน 228 แห่ง และ5.ห้องบริการอินเทอร์เน็ตประจำโรงเรียน (USO Wrap) 1,623 ห้อง โดยจะเป็นการให้บริการต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี ภายในวงเงินรวม 18,394.93 ล้านบาท

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight