Economics

‘บิ๊กตู่’ สั่งเดินหน้าแผนฟื้นฟู 6 รัฐวิสาหกิจ

py12

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาแผนงานของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่งอยู่ในระหว่างแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการบินไทยหลังมีผลประกอบการไตรมาสแรกดีขึ้น แต่ยังเผชิญกับต้นทุนราคาน้ำมันสูงขึ้นถึง 17% โดยบอร์ด คนร.สั่งการให้ลดต้นทุนบริหารจัดการบางส่วนในการซ่อมบำรุง แต่อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย และไม่กระทบต่อการให้บริการ ส่วนการจำหน่ายตั๋วพิจารณาโควตาจากตัวแทนไปขายผ่านออนไลน์เพิ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร และเร่งรัดผู้บริหารการบินไทยเดินหน้าตั้งศูนย์ซ่อมภาคตะวันออกรองรับท่าอากาศยานอู่ตะเภา

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ที่ประชุม คนร.สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำแผนเส้นทางการเดินรถระยะปานกลาง ระยะยาว 5,10,20 ปี เพื่อเชื่อมโยงรถไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้านรองรับแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางกระจายทั่วประเทศ และเห็นชอบ รฟท.ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อนำที่ดินไม่ใช่แปลงขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศมาจัดสรรหาประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม ตัดผลขาดทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อเสนอบอร์ด คนร.ในเดือนมิถุนายน ในส่วนของธนาคารอิสลามฯ รายงานที่ประชุม คนร.ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา สนช.แล้วรอบประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา

หลังจากนั้นกระทรวงการคลังพร้อมเพิ่มทุนให้ 2,000 ล้านบาท และใช้เงินจากองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 16,100 ล้านบาท สั่งคุมการปล่อยสินเชื่อคุณภาพ หลังจากปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 3,000 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม จากเป้าหมายทั้งหมด 8,000 ล้านบาท สำหรับการฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สั่งการให้หารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จากปัญหาภาระหนี้แสนล้านบาท ขสมก.ต้องแบกรับภาระเท่าไร กระทรวงการคลังรับภาระเท่าไร เพราะมีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน จึงต้องบริหารจัดการรายได้เพิ่มและอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เช่น การแอพพลิเคชั่นดูรถเมล์เข้าจอดป้ายเวลาเท่าไร เดินทางถึงไหน การจ่ายเงินผ่าน QR Code เพื่อความสะดวก

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความคืบหน้าการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF ขณะนี้อัยการได้ตรวจร่างสัญญาการโอนและรับสิทธิ์โอนรายได้ (RTA) โครงการทางพิเศษฉลองรัฐ (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) เพื่อโอนรายได้ในอนาคต 45% ให้กับกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นเวลา 30 ปี สำหรับจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุน สคร.จึงเตรียมเสนอแผนขายหน่วยลงทุนให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นสรุปแผนทั้งหมดเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าจะระดมทุนได้ในครึ่งปีหลัง เพื่อนำเงินจากการขายหน่วยลงทุนส่งให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไปใช้ก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 30,400 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E–W corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 14,300 ล้านบาท การระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงเริ่มชัดเจนหลังจากล่าช้ามานาน

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK