COLUMNISTS

รายย่อยกระอักเลือด! PTT ร่วง 16% หลังแตกพาร์

Avatar photo
EcoIndy คิดต่างสร้างสรรค์
3840

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) ที่ออกมาให้ความเห็นผ่านเฟสบุ๊คชื่อ “Tevin at PTT” ได้อย่างปัจจุบันทันด่วน!!!

หลังจากมีกระแส “ดราม่า” ผ่านสื่อออนไลน์ เรียกร้องให้ประชาชนร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการขาย “น้ำมันแพง” ของสถานีน้ำมันปตท. โดยให้ “งดเติมน้ำมันสถานีของปตท.ทั่วประเทศ” เป็นเวลา 7 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1-7 มิถุนายน 2561

…การออกมาถล่ม PTT ในครั้งนี้ ผ่านสื่อโซเชียล ถือเป็นการชิงจังหวะได้เปรียบของกลุ่มที่ต้องการดึงบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของชาติ กลับมาเป็นสมบัติชาติ ผ่านการให้ข้อมูลชุดเดิมซ้ำๆ ในยามที่ราคาน้ำมันแพง ซึ่ง “จุดกระแส” ได้ง่าย เพราะโดนใจผู้บริโภค

พร้อมกับตั้งคำถาม???? ทำไมปตท.ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไม ปตท.ขายน้ำมันแพงกว่าคู่ค้ารายอื่น

วันที่ 26 พฤษภาคม 2561 เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจาหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Tevin at PTT” เกี่ยวกับเรื่อง “หยุดเติมน้ำมัน ปตท.” อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง ?

tevin1

โดยชี้แจงใน 8 ประเด็น ที่สังคมสงสัย

1. ปตท.ขายน้ำมันแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ?

ตอบ: มีทั้งแพงกว่าและถูกกว่า
– เมื่อเปรียบเทียบราคากับเพื่อนบ้าน มาเลเซียต่ำที่สุด สิงคโปร์สูงที่สุด ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงกับเรา
– ปัจจัยของราคาขายปลีกคือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการตลาดของผู้ค้าที่จะไม่ต่างกัน ที่แตกต่างมากคือภาษีที่แต่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนด
– มาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซมาก จึงแทบไม่เก็บภาษีผู้ใช้ในประเทศ
– สิงคโปร์เก็บเยอะ เพราะต้องการจำกัดการใช้รถยนต์
– ไทยและประเทศอื่นๆเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน จึงเก็บภาษีสรรพสามิตมาเป็นงบรัฐ สำหรับสร้าง/ซ่อมถนน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้คนส่วนใหญ่
– สำหรับราคาในประเทศไทย ปั๊ม ปตท.ไม่เคยสูงกว่าปั๊มต่างชาติ และจะต่ำกว่าเป็นบางวัน

2. ปตท.ส่งออกน้ำมันถูกกว่าที่ขายในประเทศ ?

ตอบ: ราคาส่งออกใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศ
– ราคาที่ ปตท.ส่งออกเป็นราคาตลาดในภูมิภาค ซึ่งจะสะท้อนราคาเนื้อน้ำมันเป็นหลัก ยังไม่รวมภาษีสรรพามิต
– เพื่อนบ้านที่ซื้อไป ก็ขายที่ปั๊มในราคาที่สูงขึ้น เพราะต้องบวกภาษีในประเทศเขา
– สิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น ก็ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายในประเทศเช่นกัน

3. ปตท. แอบขึ้นราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยไม่บอกประชาชน?

ตอบ: ไม่จริง
– การขึ้นราคาขายปลีกในประเทศเป็นไปตามราคาตลาดโลก
– ไทยมีโรงกลั่นเอง แต่ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น
– ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบโลกมีราคาสูงขึ้น 20 %
– ปตท.ปรับราคาขายปลีกเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาค่าการตลาดประมาณ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร
– ตั้งแต่ 6 เม.ย. ปตท.ปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง ราคาต่ำกว่าปั๊มต่างประเทศรวม 9 วัน
– ในอดีต ปตท.เป็นหนึ่งในผู้ค้าไม่กี่รายที่ประกาศการปรับราคาล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
– ตั้งแต่ 26 เม.ย.กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าทุกรายไม่ให้ประกาศล่วงหน้าเพื่อสร้างการแข่งขันด้านราคา ปตท.จึงปฏิบัติตาม โดยไม่มีเจตนาปิดบังแต่อย่างใด
– ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้ผ่อนผันเรื่องนี้ ปตท.จึงกลับมาประกาศล่วงหน้าสำหรับการปรับราคาลงในวันที่ 26 พ.ค.นี้

4. ปตท. กำไรเยอะ จากการผูกขาดขายน้ำมันแพง?

ตอบ: ไม่จริง
– ธุรกิจค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี มีผู้ค้ามากมายกว่า 30 ราย แต่ละรายมีสิทธิตั้งราคาเอง
– ค่าการตลาด 1.60-1.80 บาท/ลิตร แบ่งให้ Dealers เจ้าของปั๊มแล้ว ยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ทุกปั๊มจึงต้องเปิดร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้เสริม
– กำไรทั้งหมดของ ปตท.มาจากธุรกิจน้ำมันเพียง 10% ที่เหลือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจก๊าซ สำรวจและผลิต โรงกลั่นและปิโตรเคมี
– ณ สิ้นปี 2560 ปตท.มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น (Total Assets) 2.23 ล้านล้านบาท มีกำไร 135,000 ล้าน คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 6 % ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป

5. ปตท. ผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศมากมาย ควรเอามาอุดหนุนราคา?

ตอบ: ไม่ควร
– เพราะ ปตท.สผ. (บ.ลูกของ ปตท.) มีสัดส่วนการผลิตก๊าซและน้ำมัน 30% ของผู้ผลิตในประเทศ เทียบเท่าเพียง 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
– รายได้จะไม่เพียงพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ
– นอกจากนั้นยังต้องสำรองรายได้สำหรับการขยายการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

6. คุณภาพน้ำมันและบริการของ ปตท.ต่ำกว่ามาตรฐาน?
ตอบ: ไม่จริง
– ปตท.พัฒนาคุณภาพน้ำมันสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
– ปตท.เป็นผู้นำด้านการสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวก ปลอดภัยของลูกค้า

7. ปตท. มุ่งแต่ทำกำไร ไม่เคยช่วยเหลือสังคม?
ตอบ: ไม่จริง
– ปั๊ม ปตท.เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนนำผลิตภัณฑ์มาวางขายตรงให้ลูกค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
– ปั๊ม ปตท.จัดกิจกรรม เช่น ห้องน้ำ 20 บาท โครงการแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปช่วยสถานศึกษาในชุมชน
– ปตท.ตั้งบริษัท Social Enterprise เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้สร้างรายได้ร่วมกับธุรกิจของ ปตท.
– ปตท.ร่วมกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่า หญ้าแฝก รางวัลลูกโลกสีเขียว โรงเรียนวิทยาศาสตร์กำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี ป่าในกรุง ฟื้นฟูคุ้งบางกะเจ้า จัดประกวดศิลปกรรม ปตท.ทุกปี สนับสนุนสมาคมกีฬา 5 ประเภท ทำโครงการ Pride of Thailand

8. นายทุน / นักการเมือง เป็นเจ้าของ ปตท.?
ตอบ: ไม่จริง
– รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้น ปตท.ประมาณ 63.5%
– อีก 32% ถือโดยสถาบันการเงิน/กองทุน
– ที่เหลือ 4.5% คือนักลงทุนรายย่อย

ถือเป็นการตอบโต้สงครามข่าวโซเชียลได้อย่างทันควัน!!!

set8

ส่วนราคาหุ้น PTT ที่ “ดำดิ่ง” หลังแตกพาร์เป็น 1 บาท เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 โดยก่อนแตกพาร์ราคาหุ้น PTT ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 595 บาท ก่อนเทรดพาร์ใหม่ที่ 59.50 บาท จากนั้นราคาก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และลงมาทดสอบจุดต่ำสุดที่ 50.00 บาท เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือทรุดตัวลงกว่า 15.9% ทำเอานักลงทุนรายย่อยแทบ “กระอักเลือด”

หลังจากโบรกฯต่างชาติอย่าง “เครดิตสวิส” ปรับลดคำแนะนำการลงทุนหุ้น PTT จากเดิม “เท่าตลาด” เป็นเหลือ “ต่ำกว่าตลาด” พร้อมกับให้ราคาเป้าหมายที่ 54 บาท

จากผลสำรวจความเห็นโบรกเกอร์ไทยจาก IAA Consensus พบว่ามี 10 โบรกเกอร์ออกบทวิเคราะห์หุ้น PTT โดยประเมินราคาเหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 62 บาท

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส มองว่าราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหลักผลักดันการเติบโตของ PTT ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 5 เหรียญต่อบาเรลในระยะยาว จะทำให้กำไร PTT เพิ่มขึ้นประมาณ 6-7% เพิ่มมูลค่าพื้นฐาน 3-4 บาทต่อหุ้น

แต่มองว่าระยะยาวราคาน้ำมันน่าจะยังอ่อนตัว ภาพรวมธุรกิจยังไม่มีประเด็นใหม่ ประมาณการกำไรปกติปีนี้เติบโต 13.1% จึงคงคำแนะนำเพียง “ถือ” พร้อมกับให้ราคาเป้าหมายที่ 54 บาท

ตรวจสอบผลการดำเนินงานย้อนหลัง

ปี 2557 มีรายได้รวม 2,866,883.40 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 55,794.93 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้รวม 2,063,727.44 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 19,936.42 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้รวม1,737,144.57 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิ 94,609.08 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้รวม 2,044,951.64 และมีกำไรสุทธิ 135,179.60 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 1/2561 มีรายได้รวม 545,245.14 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 39,788.26 ล้านบาท

ไม่มีใครบอกได้ว่าราคาหุ้น PTT ถึง “จุดต่ำสุด” แล้วหรือยัง

แต่ถ้าถามว่ามีโอกาสไปต่อได้ไหม ทุกอย่างมีคำตอบในตัวของมันเอง ในแง่ของการเติบโตของรายได้ และกำไร นักลงทุนคงต้องถามใจตัวเองแล้วละว่า มั่นใจกับ PTT มากแค่ไหน ในระยะยาว