COLUMNISTS

อนาคต ‘ทีวีดิจิทัล’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
991

ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง จาก 22 ช่อง ประกอบด้วย ช่อง 3 แฟมิลี่ ช่อง 19 สปริงนิวส์  ช่อง 20 ไบร์ททีวี  ช่อง 21 วอยซ์ทีวี ช่อง 14 เอ็มคอทแฟมิลี่ ช่อง 28 (ช่อง3 เอสดี) และช่อง 26 สปริงนิวส์ (นาวเดิม) ยื่นขอคืนใบอนุญาตกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ( กสทช.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่าทั้ง 7 ช่อง จะได้เงินชดเชยคืนจากกสทช.รวมกันราว 3,820 ล้านบาท

ตัวเลขเงินชดเชยข้างต้น กสทช. คำนวณด้วยสูตร นำค่าธรรมเนียมที่ชำระแล้ว คูณ ด้วยใบอนุญาตที่เหลืออยู่ 10 ปี จากนั้น หารด้วยอายุใบอนุญาต 15 ปี แล้วนำผลลัพธ์ตั้งไว้ จากนั้นนำเงินอุดหนุนที่ผู้ประกอบการได้อาทิ ค่าเช่าใบอนุญาต

ฐากร ตัณสิทธิ์ เลขาธิการฯ กสทช. ออกมาบอกว่า ทุกช่องที่คืนใบอนุญาตจะได้รับชดเชยประมาณ 55% ของเงินที่จ่ายให้รัฐตลอดใบอนุญาต แต่ถ้าบริษัทที่ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาไม่มีกำไรอาจได้คืนมากกว่า 55 % และยังได้แบงก์การันตีคืนทันที สรุปคือขาดทุนมากได้รับเงินชดเชยมาก ประมาณนั้น

ส่วนทีวีดิจิทัลที่ประสงค์ไปต่อรวม 15 ช่องนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในนาม กสทช. จัดแพ็คเกจอุดหนุนให้ตามที่ขอไปเกือบครบถ้วน อาทิ พักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตส่วนที่เหลือ ได้ไม่เกิน 3 ปี และอุดหนุนค่าเช่าโครงข่าย(มักซ์) 50 % ไม่เกิน 2 ปี เป็นต้น

ดูสถานการณ์ทีวีดิจิทัลวันนี้แล้วนึกถึงตอนประมูลชิงใบอนุญาตเมื่อปี 2556 ที่ผู้ประกอบการแห่ชิงใบอนุญาต และทุ่มเงินแข่งประมูลเหมือนกลัวไม่ได้ใบอนุญาต บรรยากาศต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การประมูลครั้งนั้น มีผู้เข้ารอบ 24 ราย มีทั้งคนจากวงการทีวี หนังสือพิมพ์ ธุรกิจบันเทิง และเจ้าของทุนที่อยากเป็นเจ้าของทีวี ร่วมประมูลใบอนุญาต 4 ประเภทคือ คมชัดสูง คมชัดมาตรฐาน ช่องข่าว&สาระ และช่องเด็ก รวม 50,862 ล้านบาท พร้อมกับความฝันว่า เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากทีวีแอนะล็อกมาเป็นดิจิทัล ที่จะถูกจดจำไปตลอดกาล แต่คล้อยหลังจากทีวีดิจิทัล ออกอากาศอย่างเป็นทางการใน เดือน พฤษภาคม 2557 ได้ไม่ถึงอึดใจดี ข่าวผลประกอบการย่ำแย่ของทีวีดิจิทัลออกมาเป็นระลอก

นับจากปี 2559 มีข่าวลดคน หรือได้ผู้ร่วมทุนใหม่ จากวงทีวีดิจิทัล ออกมาอย่างต่อเนื่อง พอถึงต้นปี 2561 ตัวแทนผู้ประกอบการยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจาก คสช. ก่อนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมาตรการเยียวยา ตามที่กล่าวมาข้างต้น

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักอ้างว่า การที่กสทช.ไม่ได้ดำเนินการเชิญชวนให้คนมาชมทีวีดิจิทัลอย่างเพียงพอตามที่ได้สัญญากันไว้ ความย่ำแย่ของภาวะเศรษฐกิจที่โยงถึงเม็ดเงินโฆษณา และทีวิดิจิทัลได้รับผลกระทบจาก ดิสรัปชั่น เช่นเดียวกับสื่อเก่าอย่าง หนังสือพิมพ์ คือ ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงที่ทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปอย่างที่คิด

นอกจากปัจจัยดังกล่าวซึ่งถือเป็นปัจจัยภายนอกแล้ว ผลประกอบการขาดทุนของทีวีดิจทัลยังมาจากปัจจัยภายใน มาจากตัวผู้ประกอบการที่มั่นใจมากเกินไปอีกด้วย ว่าทีวีดิจิทัล คือ อนาคต จึงใส่เงินประมูลเพื่อแย่งชิงใบอนุญาตกันจนมูลค่าสูงเกินกว่าจะสร้างผลตอบแทนกลับมาได้ ซึ่งกลายเป็นภาระให้ผู้ประกอบการในเวลาต่อมา

ในการประมูลเมื่อปี 2556 ใบอนุญาตทุกประเภทผู้ร่วมประมูลเสนอราคาเกินกว่าราคาขั้นต่ำที่ กสทช.ตั้งไว้หลายเท่า

ตัวอย่างเช่น ช่องความชัดสูง(เอชดี) กสทช. กำหนดราคาขั้นต่ำต่อช่อง ไว้ 1,510 ล้านบาท แต่ผู้ชนะประมูลเสนอราคาระหว่าง 3,530 ถึง 3,320 ล้านบาท หรือ ช่องความคอมชัดปกติ(เอสดี) ราคาขั้นต่ำ 380 ล้านบาทต่อช่อง แต่ผู้ประมูลเสนอราคาเปิดการประมูลที่ 1,975 ล้านบาท ก่อนไปจบสูงสุดที่ 2,200 ล้านบาท หรือช่องข่าวราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 220 ล้านบาท ต่อช่อง แต่มีผู้เสนอให้ราคาสูงสุด-ค่ำสุดไว้ที่ 1,338 ถึง 1,298 ล้านบาท เป็นต้น

กับอนาคตทีวีดิจิทัล แม้จำนวนผู้เล่นในตลาดลดเหลือ 15 ราย และ ผู้ประกอบการยังมีมาตรการอุดหนุนจากรัฐที่ช่วยลดต้นทุน แต่ไม่ใช่หลักประกันว่าทีวีดิจิทัล โดยเฉพาะรายที่ผลประกอบการขาดทุน จะพลิกกลับมากำไรในทันที

คนในวงการวิเคราะห์ว่า ทีวีดิจิทัล ที่หายไป จะไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการตลาดมากนัก เพราะทั้ง 7 ช่อง ที่คืนใบอนุญาตมีสัดส่วน ผู้ชม และ ส่วนแบ่งเม็ดเงินโฆษณาไม่มากนัก และช่องที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว (ได้รับอานิสงค์จากมาตรการของรัฐเช่นกัน) คงจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก

แม้แนวโน้มยังดูไม่แจ่มใสนัก แต่อย่างน้อยที่สุด มาตรการอุดหนุนของรัฐคงเพิ่มความหวังให้กับผู้ถือใบอนุญาตที่ยังไม่ถอดใจพอสมควร หลังจากผู้ประกอบการ และ คนทีวี อยู่ในสถานการณ์ที่คาดเดายากมาหลายปี