Finance

BAY สั่งจับตาสงครามการค้าสหรัฐ – จีน กดดันค่าเงิน!!

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” ประเมินค่าเงินบาทแกว่งในกรอบ 31.50 – 31.85 บาท/ดอลลาร์ สั่งจับตาสงครามการค้ากดดัน

เงินบาท252624

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-31.85 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.57 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่ภาพทางการเมืองของไทยชัดเจนมากขึ้น สวนทางกับค่าเงินหยวนซึ่งร่วงลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 6.3 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 1.0 พันล้านบาท ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่องเทียบกับเงินยูโรและเยนซึ่งแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ในรอบนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลลบต่อเงินหยวน แต่กลับมากดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้อ่อนลงด้วย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่แตกต่างจากปี 2561 ในครั้งนั้นดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าไม่รีบร้อนที่จะลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับจีน โดยสหรัฐเริ่มปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเป็น 25% จาก 10% สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และรัฐบาลจีนประกาศจะตอบโต้ นอกจากนี้ ช่วงกลางสัปดาห์ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐหลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคออกมาต่ำกว่าคาด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ตรึงดอกเบี้ย โดยระบุว่าภาวะการเงินยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น กรณีการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน ส่วนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศยังมีอยู่มาก และกนง.ต้องการรอประเมินผลกระทบต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น โดยทางการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3.8% ตามการส่งออกสินค้าและการลงทุนที่ชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-4%

สำหรับเงินบาท กนง.คาดว่ายังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค แต่อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มยังผันผวน อนึ่ง การยืนยันว่าไทยจะไม่ปรับดอกเบี้ยตามต่างประเทศแต่จะพิจารณาจากปัจจัยในประเทศเป็นหลักสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดปี 2562 แม้หลายประเทศ อาทิ อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ลดดอกเบี้ยไปแล้วก็ตาม โดยทิศทางดังกล่าวอาจหนุนค่าเงินบาทอีกทางหนึ่ง

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK